พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับ "ความรู้"

“...ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดถือเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้ความรู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔

วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2552

ครูผู้มีอุดมการณ์

ครูผู้มีอุดมการณ์

คอลัมน์ กระแสทรรศน์ สพฐ.

โดย ทรงวุฒิ มลิวัลย์



แรง บันดาลใจจากการเสียชีวิตของครูจูหลิง ปงกันมูล ได้ก่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนในการค้นหาครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณครู ครูที่เสียสละเพื่อเด็กและการศึกษาไทย โดยกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะมีการคัดเลือกให้เหลือภาคละ 1 คน รวม 4 คน และรับรางวัลจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในวันครูที่ 16 มกราคม 2552

การคัดเลือกครูผู้มี อุดมการณ์เพื่อเฟ้นหาตัวจริงเสียงจริง เริ่มจากให้แต่ละโรงเรียนเสนอชื่อพร้อมผลงานไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การ ศึกษา (สพท.) เพื่อให้ สพท.คัดเลือกตัวแทนเข้ามาคัดเลือกระดับภาคให้เหลือภาคละ 1 คน ขณะเดียวกันหน่วยงานต่างๆ ที่มีครูอยู่ในสังกัดก็คัดเลือกครูในสังกัดตัวเองส่งมาคัดเลือกเป็นตัวแทน ระดับภาคได้ด้วยเช่นเดียวกัน

คณะกรรมการซึ่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ หลายสาขา หลายหน่วยงาน ได้ทำหน้าที่อย่างยากลำบาก เพราะมีการส่งเข้าคัดเลือกจำนวนมากกว่าจะคัดเลือกให้เหลือเพียงภาคละ 1 คน แสดงให้เห็นว่ายังมีครูดี ครูที่มีอุดมการณ์ เสียสละเพื่อเด็กและสังคมได้อีกมาก ซึ่งครูเหล่านี้คือที่พึ่งที่หวังของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

เมื่อทราบผลจากการคัดเลือกไม่ทำให้ผิดหวังจริงๆ เพราะชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์เป็นที่กล่าวขานและขจรขจายอยู่ในสังคมโดยรวมอยู่แล้ว

นาย กิจจา ชูประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนปทุมวิไล อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ครูผู้ผ่านประสบการณ์ทั้งชีวิตครูในป่าและครูในเมือง ต้องนำพาเด็กให้พ้นจากภัยทั้งปวง ทั้งขณะอยู่ในป่าและในเมือง ต่อสู้กับธุรกิจผิดกฎหมายรอบโรงเรียนอย่างไม่สะทกสะท้าน บริหารงานแบบพ่อปกครองลูก จนได้รับการเรียกขานจากนักเรียนว่าพ่อใหญ่ ผู้มุ่งหวังให้เด็กเป็นคนดีของครอบครัว คนดีของสังคม และอยู่ในสังคมโลกได้อย่างมีความสุข

นายสำเร็จ ไกรพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่จ๊าง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ครูผู้ต่อสู้ปัญหาและอุปสรรคจากวัฒนธรรมที่แตกต่างจากใต้สู่ภาคเหนือ กว่าจะสำเร็จก็ใช้เวลากว่า 20 ปี ที่สร้างโรงเรียนจากไม่มีเด็กมาเรียน อาคารเก่าๆ สู่สิ่งแปลกใหม่ที่ใครเห็นเป็นต้องตะลึงกับความมุมานะ ความเพียรพยายาม จนเป็นโรงเรียนขนาดเล็กต้นแบบผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงในปัจจุบัน

ดาบ ตำรวจ นิยม มานะสาร ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ตำรวจผู้มีหัวใจเป็นครูและไม่ยอมให้ความเสี่ยงมาเป็นปัญหาและอุปสรรคในการทำ งาน มุ่งสร้างเด็กด้อยโอกาสให้มีโอกาสและได้รับโอกาสอย่างไม่ย่อท้อ

นาง ศุภวรรณ แซ่ลู่ ครูชำนาญการโรงเรียนบ้านเบตงสุภาพอนุสรณ์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ครูผู้รอดชีวิตจากเหตุร้ายภาคใต้ แต่มีไฟและอุดมการณ์ ผู้ไม่ยอมย้ายจากพื้นที่เสี่ยงภัย เสี่ยงชีวิต ทั้งต่อตัวเองและครอบครัว ทั้งที่บุตรสาวเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตาแล้วก็ตาม เพราะสิ่งแรกที่สามารถสื่อต่อสาธารณชนได้ คือลายมือที่เขียนว่าไม่ย้ายนะ ไม่ย้ายนะ

ขอให้คุณครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณของความเป็นครูทั้ง 4 ท่าน ได้เป็นแรงบันดาลใจให้คุณครูทุกท่านมุ่งมั่นบากบั่นสู่รางวัลเกียรติยศสูง สุดของความเป็นครู ตามคำขวัญวันครูปี 2552 ที่ว่า "ครูสร้างคนดี เป็นศรีแผ่นดิน ทั่วถิ่นศรัทธา บูชาคุณครู"

หน้า 7

วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11271 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: