พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับ "ความรู้"

“...ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดถือเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้ความรู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔

วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2551

อาหารกับผู้บริหาร (หญิง)

อาหารกับผู้บริหาร (หญิง)
การจัดโภชนาการพื้นฐานในผู้หญิงทำงานก็จะคล้ายกับในผู้ชายทำงาน ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ที่ต้องเพิ่มมากขึ้นก็คือธาตุเหล็ก เพราะผู้หญิงมีการสูญเสียธาตุเหล็กทุกเดือนทางรอบเดือน ยิ่งคนที่มีประจำเดือนมามากยิ่งต้องการเหล็กเสริมมากขึ้น และถ้าใส่ห่วงคุมกำเนิดยิ่งมีโอกาสสูญเสียเลือดวันละเล็กวันละน้อยได้มากกว่าปกติ ที่สำคัญผู้หญิงจะมีการเก็บสะสมธาตุเหล็กน้อยกว่าในผู้ชาย

แหล่งของธาตุเหล็กที่ดีที่สุดคือ จากเนื้อสัตว์ และตับที่เรียกว่า “ฮีม ไอออน” ดังนั้นจึงมีอาหารเสริมที่สกัดจากตับอย่างมากมาย แต่ข้อเสียคือ เสื่อมง่ายทำให้มักไม่ได้ปริมาณธาตุเหล็กตามที่กำหนดไว้ ในปัจจุบันอาหารเสริมธาตุเหล็กมีหลายชนิด เช่น เฟอร์รัน ซัลเฟต เฟอร์รัส ฟูเมอเรต ซึ่งระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่าชนิดแรก ควรรับประทานธาตุเหล็กพร้อมๆ กับวิตามินซี จะช่วยให้ดูดซึมได้ดีขึ้น แต่ไม่ควรรับประทานร่วมกับแคลเซียม โดยเฉพาะแคลเซียมฟอสเฟต เพราะจะลดการดูดซึมลง

ปริมาณธาตุเหล็กที่ต้องการเพิ่มในคนที่สูบบุหรี่ทั่วๆ ไปแข็งแรงดี คือ 10-15 มก./วัน แต่หากมีอาการซีดเลือดประจำเดือนเยอะอาจต้องการสูงถึง 50 มก./วันได้

สำหรับคุณผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิด ร่างกายจะต้องการวิตามินบี 6 (ไพรีดอกซิน) และโฟลิค แอซิด เพิ่มมากกว่าปกติ ควรได้รับวิตามินบี 6 วันละ 20 มก.

อาการผิดปกติช่วงก่อนมีรอบเดือน ที่เรียกว่า Pre-menstrual Syndrome หรือ PMS นั้นเป็นอาการที่ทำให้มีผลกระทบต่อการทำงานของคุณผู้หญิงค่อนข้างมาก กลุ่มอาการนี้ได้แก่ หงุดหงิด ขี้รำคาญ กระวนกระวาย ซึมเศร้า อ่อนเพลีย อยากขนมหวานมากขึ้น น้ำหนักขึ้น ท้องอืด เจ็บหน้าอก มึนศีรษะ ปวดหัว ฯลฯ มักเริ่มเป็น 7-10 วันก่อนมีรอบเดือน พอมีรอบเดือนอาการต่างๆ ก็หายไป

อาหารเสริมและวิตามินที่จะช่วยป้องกัน และรักษากลุ่มอาการ PMS ได้แก่

1.วิตามินอี ช่วยลดอาการเจ็บหน้าอกให้ได้ตั้งแต่ 100-400 ยูนิตสากล/ วัน

2.วิตามินบี 6 (ไพรีดอกซิน) ช่วยลดความแปรปรวนทางอารมณ์ ขนาดที่ให้คือ 20-50 มก./วัน ในช่วงที่มีอาการ ช่วงปกติให้ 20 มก./วัน ก็พอ ไม่ควรรับประทานขนาด 50 มก./วัน ติดต่อกันนานๆ ยกเว้นอยู่ในความดูแลของแพทย์

3.แอล-ไทโรซีน (L-tryrosine) ช่วยลดอาการอ่อนเพลียและอาการซึมเศร้า ขนาดที่ใช้คือ 500 มก. ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมงวันละ 3 ครั้ง หรือ 1,500 มก./วัน ไม่ควรใช้กรดอะมิโนตัวนี้รวมกับยารักษาโรคซึมเศร้า ในกลุ่มสารยับยั้ง โมโนเอมีน ออกซิเดซ และไม่ควรให้ในคนที่มีปัญหาความดันโลหิตสูง

4.เลซิติน หรือฟอสฟาติดิลโคลีน ช่วยในการควบคุมอารมณ์และเสริมสร้างความจำ เพราะร่างกายจะใช้โคลีนไปสร้างเป็นสารสื่อนำประสาทได้ ขนาดที่ให้คือ 1-10 กรัม/วัน โดยไม่พบข้อแทรกซ้อม หรืออาจรับประทานโคลีนขนาด 100-1,000 มก./วัน โดยตรงก็ได้ ควรเริ่มขนาดน้อยก่อน หากยังไม่เห็นผลจึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้น

5.แอล-คาร์นิทีน (L-carnitine) ขนาดสูง 2 กรัม/วัน ช่วยลดอาการท้องอือ และลดน้ำหนักตัวที่ขึ้นผิดปกติในช่วงนี้ได้

6.อีฟนิ่ง พริมโรส ออยล์ (Evening Primrose Oil) หรือ EPO เป็นน้ำมันที่สกัดจาดเมล็ดของดอกอีฟนิ่งพริมโรส มีกรดไขมันแกมมาไลโนเลนิค แอซิด ซึ่งร่างกายจะนำไปเปลี่ยนเป็นพรอสตาแกลนดินส์ ซึ่งจะสามารถช่วยควบคุมและรักษาอาการ PMS ได้ ขนาดที่ให้คือ วันละ 2-4 กรัม

7.การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยลดอาการ PMS ได้

8.ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง และพวกเนื้อวัว เนื้อหมู

ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ปัญหาที่น่ากลัวที่สุด คือ โรคกระดูกบาง (osteoporosis) โดยเฉพาะในคนที่ไม่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเสริม เพราะจะทำให้กระดูกเปราะ หักง่าย การป้องกันที่ดี คือ การได้รับแคลเซียมมากเพียงพอตั้งแต่ในวัยสาว ไม่ใช่มาเสริมเอาตอนหมดรอบเดือนแล้ว การออกกำลังกาย เช่น เดินวันละ 20-30 นาที 3 ครั้ง/สัปดาห์ ก็ช่วยป้องกันโรคนี้ได้

แคลเซียมเสริมสำหรับหญิงก่อนหมดประจำเดือนและหญิงหมดประจำเดือนที่รับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจนคือ 1,000 มก./วัน แต่ถ้าอยู่ในวัยหมดประจเดือน และไม่มีฮอร์โมนเสริมควรรับประทานแคลเซียมวันละ 1,500 มก.

แคลเซียม คาร์บอเนต ใช้กันมากที่สุด แต่จะดูดซึมได้ดีเมื่อมีกรดในกระเพาะ จึงต้องรับประทานพร้อมอาหาร

แคลเซียม ซิเตรท สามารถรับประทานได้ในขณะท้องว่าง ทั้งซิเตรทจะช่วยป้องกันการตกตะกอน เกิดนิ่วในไตได้อีกด้วย

ในหญิงที่มีปัญหาระดับแคลเซียมในเลือดสูงผิดปกติ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแคลเซียมเสริม

ในคนที่มีปัญหาไตวายไม่ควรรับประทานแคลเซียมเสริมที่มีแมกนีเซียมอยู่ด้วย

ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนมักจะรู้สึกหนาวง่าย แม้ต่อมธัยรอยด์จะทำงานปกติ เพราะถึงแม้จะมีธาตุเหล็กขาดไปเพียงเล็กน้อย และไม่มีอาการซีดแต่อย่างใด ร่างกายก็อาจปรับอุณหภูมิไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องการธาตุเหล็กเสริมด้วย

ที่มา: I Love My Life อภินันทนาการฟรีพร้อมหนังสือพิมพ์ “คู่แข่งธุรกิจรายสัปดาห์” เฉพาะฉบับที่ 116 วันที่ 29 มี.ค.-4 เม.ษ 2536 หน้า 29-33

วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2551

อาหารกับผู้บริหาร (ชาย)

อาหารกับผู้บริหาร (ชาย)
สุขภาพของผู้บริหารเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหากสุขภาพไม่ดีก็คงมีผลงานสร้างสรรค์ที่ดีตามมาไม่ได้ จากการตรวจพบว่าผู้บริหารชายกลัวเท่ไม่มากกว่าหญิงเสียด้วยซ้ำ คงเป็นเพราะไม่อยากจะสูญเสียสภาพผู้บริหารระดับสูงไปถ้าถูกคนอื่นบอกว่า “แก่วัยแล้วไร้ค่า”

ภาวะโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับผู้บริหาร ก็ได้แก่การเลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน โปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน โดยเฉพาะโปรตีนจากปลาซึ่งย่อยง่ายและให้น้ำมันอีพีเอ ลดคอเลสเทอรอลอีกด้วย และให้เน้นพวกผักสดและผลไม้ที่มีเส้นใยอาหารให้มาก เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและเกลือแร่อย่างเพียงพอ ทั้งยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายทำงานเป็นปกติ ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ วันละ 8-12 แก้ว

สิ่งที่ผู้บริหารควรหลีกเลี่ยงก็คือ อาหารประเภทน้ำตาล อาหารมัน โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ แกงกะทิ เนื้อสัตว์พวกหมู และเนื้อวัว ที่มีคอเลสเทอรอลสูง ไข่แดง ควรจำกัดไม่ให้เกินสัปดาห์ละ 2 ฟอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำชา-กาแฟ โคล่า ที่มีคาเฟอีนสูง และควรงดสูบบุหรี่ด้วย

อาหารเสริมโดยเฉพาะพวกวิตามินและเกลือแร่เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะระดับผู้บริหารมักจะมีอันจะกิน แต่ไม่ค่อยได้เลือกกินของมีประโยชน์เท่าที่ควร รวมทั้งความเครียดที่เกิดขึ้นจากการทำงานและสภาพแวดล้อมจะมีผลให้ร่างกายต้องการวิตามินและเกลือแร่เพิ่มมากขึ้น แม้ในคนที่รับประทานอาหารได้ครบทุกหมู่ก็ยังต้องการวิตามินและเกลือแร่เสริม เพราะปริมาณวิตามินตามค่า RDA นั้นเพียงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาด แต่ไม่พอสำหรับการเสริมสร้างสุขภาพ และป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้

จากงานวิจัยพบว่าวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด สามารถช่วยป้องกันโรคต่างๆโดยเฉพาะโรคจากความเสื่อมของร่างกายตามวันได้ เช่น โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ คอเลสเทอรอลสูง มะเร็ง โรคอ้วน ภูมิต้านทานต่ำ อ่อนเพลีย กระดูกเสื่อม ฯลฯ

วิตามินที่ช่วยลดความเครียดให้แก่ร่างกายบำรุงประสาทและสมอง ได้แก่ วิตามินในกลุ่มบีรวม โดยเฉพาะวิตามินบี 1-6-12 ดังนั้นผู้บริหารที่มีความเครียดสูง จะได้รับวิตามินกลุ่มนี้สม่ำเสมอ

ในผู้บริหารที่สูบบุหรี่ หรือต้องอยู่ในที่ๆ มีควันบุหรี่มาก โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะต้องการวิตามินและเกลือแร่เสริมมากเป็นพิเศษ นั่งทำงานในควันบุหรี่ รวมทั้งควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมในปัจจุบันจะมีออกซิเจนที่เป็นพิษ “ไนโตรเจนออกไซด์” และ ฟรี แรดิคอล จำนวนมากซึ่งสารเหล่านี้จะไปทำงายเยื่อหุ้มเซลล์ นิวเคลียสของเซลล์ ทำให้เซลล์ตายและกลายเป็นมะเร็ง ดังนั้นเราจึงพบว่าคนที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งปอดสูงและสามีหรือภรรยาของคนที่สูบบุหรี่ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อมะเร็งปอดเพิ่มเป็นสองเท่าของปกติ ทั้งควันบุหรี่ยังทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองด้วย

วิตามินและเกลือแร่ สำหรับคนสูบบุหรี่ ได้แก่ เบตา แคโรทีน วันละ 15 มก. หรือ 25,000 ยูนิตสากลวิตามินอี 400 ยูนิตสากล วิตามินซี 500-1000 มก. โฟลิคแอซิด 800 ไมโครกรัม วิตามินบี 12 500 ไมโครกรัม ซิลีเนียม 200 ไมโครกรัม และสังกะสี 15-30 มก.

วิตามินและเกลือแร่ดังกล่าวจะมีคุณสมบัติเป็น “แอนตี้ออกซิแดนท์” ต่อต้านและทำลายฟรี แรดิคอล ที่ร่างกายได้รับจากสิ่งแวดล้อม จึงช่วยลดความเสี่ยงชองมะเร็งปอด ตลอดจนความเสื่อมของร่างกายด้วย

ในปี ค.ศ. 1988 มีรายงานทางการแพทย์ว่า ในคนที่เริ่มมีความผิดปกติของทางเดินหายใจ หรือเริ่มมีมะเร็งระยะแรก การให้โฟลิค แอซิดขนาด 10 มก. และวิตามินบี 12 ขนาด 500 ไมโครกรัม สามารถทำให้เนื้อร้ายระยะแรกนี้กลายเป็นปกติได้ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ เพราะเป็นการให้วิตามินสูงเพื่อการรักษา

ในผู้ชายวัยกลางคน ไม่มีความจำเป็นต้องเสริมธาตุเหล็ก เพราะมักไม่ขาด ยกเว้นเป็นโรคบางชนิด หรือกำลังลดอาหารเพื่อลดน้ำหนักเท่านั้น

ที่มา: I Love My Life อภินันทนาการฟรีพร้อมหนังสือพิมพ์ “คู่แข่งธุรกิจรายสัปดาห์” เฉพาะฉบับที่ 116 วันที่ 29 มี.ค.-4 เม.ษ 2536 หน้า 25-28

วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2551

มหาวิทยาลัยมาม่า

มหาวิทยาลัยมาม่า

คอลัมน์ จิตวิวัฒน์

โดย สุมน อมรวิวัฒน์ แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ผู้เขียนขออภัยที่นำชื่ออาหารยอดนิยมมาตั้งชื่อบทความนี้

"มาม่า" เป็นได้ทั้งชื่อเฉพาะและชื่อทั่วไป ซึ่งหมายถึงบะหมี่สำเร็จรูปทุกยี่ห้อที่จำหน่ายสำหรับผู้ที่ต้องการกินอาหารอย่างรีบด่วน ปรุงง่าย อร่อย และอิ่มเร็ว แม้ว่าจะมีส่วนประกอบเป็นเส้นหมี่ วุ้นเส้น และมีรสชาติต่างกัน เราก็เรียกว่า มาม่า คนส่วนใหญ่เข้าใจตรงกัน เหมือนกับที่เรียกผงซักฟอกทุกยี่ห้อว่า แฟ้บ และเรียกบาล์มทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นอย่างน้ำหรือขี้ผึ้งว่า ยาหม่อง

ผู้บริโภคบะหมี่สำเร็จรูปมีจำนวนมากมายมหาศาลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ การผลิตสนองความต้องการของตลาด จึงต้องใช้ระบบโรงงานที่มีตัวป้อน กระบวนการผลิต และตรวจสอบคุณภาพของผลผลิตทุกชิ้นอย่างเข้มงวด

การผลิตบะหมี่สำเร็จรูปมีสูตรที่แน่นอน กำหนดวัตถุดิบส่วนผสม วิธีปรุงอย่างแน่นอนในแต่ละรสชาติ เครื่องจักรในโรงงานมีกลไกที่ช่วยให้ผลิตได้รวดเร็ว ต่อเนื่องตามสายพานทุกขั้นตอนจนออกมาเป็นก้อนบะหมี่และผงปรุงรส บรรจุหีบห่อสวยงาม ดูน่ากิน ทั้งรสหมูสับ รสต้มยำกุ้ง รสผัดขี้เมา ผู้บริโภคได้ลิ้มรสหมูสับ แต่ไม่มีเนื้อหมู รสต้มยำกุ้งไม่มีกุ้ง ถ้าจะให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนจึงต้องเติมไข่ เนื้อสัตว์ และผักเข้าไปด้วย

มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาขั้นอุดมมาเกี่ยวอะไรกับบะหมี่มาม่า

ขอตอบว่าผู้เขียนมองบะหมี่สำเร็จรูปในด้านดีมิใช่ด้านร้าย เพียงแต่อยากเปรียบเทียบระบบและกระบวนการผลิตบัณฑิต ตั้งแต่การคัดเลือกตัวป้อน กระบวนการเรียนการสอน และผลผลิตคือบัณฑิตจำนวนแสนในแต่ละปีนั้น มีคุณภาพและปัญญาหารเพียงใด มหาวิทยาลัยกลายเป็นโรงงานผลิตปริญญาบัตรที่ลูกค้าทั่วประเทศใฝ่ฝันต้องการมาครอบครองจริงหรือ?

เมื่อมหาวิทยาลัยใช้วิธีการตามระบบโรงงาน มหาวิทยาลัยจึงต้องมีการคัดเลือกตัวป้อนเข้าสู่ระบบอย่างเข้มงวดสำหรับมหาวิทยาลัยแบบปิดหรือแบบจำกัดจำนวนรับ ส่วนมหาวิทยาลัยเปิดนั้น แม้จะมีจุดประสงค์เพื่อให้โอกาสคนส่วนใหญ่ได้เข้าเรียน แต่ก็ต้องมีกฎเกณฑ์บางประการที่ตัวป้อนเหล่านั้นจะถูกกลั่นกรองทีละขั้น มิฉะนั้นก็ไม่สำเร็จการศึกษา ซึ่งมักจะมีคำกล่าวกันว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่เข้าง่ายแต่จบยาก

ตัวป้อนของบะหมี่สำเร็จรูปก็คือ แป้งสาลี น้ำมันปาล์ม และเครื่องชูรสต่างๆ ตามสูตรที่กำหนด ซึ่งก็จะต้องเลือกสรรวัตถุดิบที่ดี มีคุณภาพเป็นสำคัญ

ส่วนตัวป้อนเข้าสู่ระบบอุดมศึกษานั้น นอกจากทรัพยากรต่างๆ แล้ว ที่สำคัญที่สุดคือ นักเรียนที่สมัครเข้าเรียน ซึ่งมีการคัดเลือกอย่างเข้มข้น ยิ่งเป็นมหาวิทยาลัยและคณะวิชาที่สังคมวางค่านิยมไว้สูง ก็ยิ่งมีการแข่งขันเหมือนกับเอาชีวิตเป็นเดิมพัน

วิธีการสอบเข้าเพื่อคัดเลือกตัวป้อนที่เป็นมนุษย์ จึงสร้างความสุขและความทุกข์อย่างใหญ่หลวง แม้ว่าจะมีการวิจัยศึกษาหาวิธีการที่จะคัดเลือกหลายรูปแบบ เพื่อมิให้เกิดความบีบคั้น ความเครียด พยายามสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นทั่วถึงมากที่สุด แต่ความเป็นมนุษย์มิใช่แป้งสาลีและน้ำมันปาล์ม ตัวป้อนเข้ามหาวิทยาลัยจึงมีความรู้สึก มีความคาดหวัง มีอารมณ์สุขทุกข์ ลุกลามไปถึงพ่อแม่พี่น้องในครอบครัว ปลาบปลื้มลิงโลดใจเมื่อสอบเข้าได้ และเศร้าโศกเมื่อผิดหวัง ตัวเลขและแต้มเฉลี่ยเป็นเสมือนตราประทับที่หน้าผาก ว่าคนนี้เข้าได้และคนนั้นต้องไปหาที่เรียนใหม่

เมื่อขันแข่งแย่งชิงกันเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว กระบวนการพัฒนาให้นิสิตนักศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ ยิ่งมีองค์ประกอบ วิธีการ และบริบทที่ซับซ้อนยิ่งนัก สายพานการผลิตไม่เลื่อนไหลรวดเร็วเหมือนบะหมี่สำเร็จรูป หากแต่ใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานและเป็นพลวัต

กระบวนการพัฒนาบัณฑิตแตกต่างจากกระบวนการผลิตในโรงงานอย่างสิ้นเชิง นักเรียนที่เข้าสู่มหาวิทยาลัยนั้นมีความแตกต่างหลากหลาย เติบโตและพัฒนาได้ไม่เหมือนกัน จนยากที่จะมีหลักสูตรและศาสตร์ที่ดิ่งเดี่ยว แข็งขึงตึงตัว เพียงหนึ่งเดียวมาเปลี่ยนแปลงนิสิตนักศึกษาได้ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย

ปัจจุบันจึงเกิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการอุดมศึกษา ที่มุ่งพัฒนาบัณฑิตและพัฒนาหลักสูตรแบบองค์รวม เกิดความคิดเรื่อง humanized educare คือการพัฒนาบัณฑิตให้มีหัวใจเป็นมนุษย์

หลายมหาวิทยาลัยเริ่มศึกษากระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (transformative learning) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกลมกลืนระหว่างความรู้ภายนอกตนกับความรู้ภายในตน หลายสาขาวิชาเริ่มตระหนักว่า การเคี่ยวเข็ญให้นิสิตนักศึกษามีความรู้และเก่งในศาสตร์ของตนอย่างดิ่งเดี่ยวนั้น ไม่เกิดผลให้บัณฑิตประสบความสำเร็จในชีวิตการงานและการดำรงชีวิตในสังคม

มหาวิทยาลัยเริ่มปรับเปลี่ยนสาระและกระบวนการเรียนรู้ในหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป จากการที่มีรายวิชาซึ่งใช้เป็นฐานสำหรับต่อยอดในการเรียนวิชาเฉพาะ เช่น คณิตศาสตร์ สถิติเบื้องต้น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมวิทยา วิทยาศาสตร์ทั่วไป ฯลฯ มาเป็นการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร วิธีการคิดเชิงวิเคราะห์ การใช้เหตุผล ชีวิตกับธรรมชาติ ความเป็นพลเมืองดี สุนทรียภาพ และการพัฒนาบุคลิกภาพ โดยแทรกค่านิยมทางจิตวิญญาณ (spiritual value) เข้าไปตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนถึงปีสุดท้าย

กระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยได้เพิ่มความรู้ทางสังคมและการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ด้วยความเชื่อว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่หอคอยงาช้างอีกต่อไป แต่เป็นสถาบันหนึ่งของสังคมที่ต้องรับผิดชอบต่อความเจริญ ความเสี่ยง และความเสื่อมของชุมชนท้องถิ่น

การสอนจึงต้องเน้นพลังกลุ่ม การทำงานเป็นทีม การช่วยเหลือเกื้อกูล การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อความสุขและความทุกข์ของประชาชน

เมื่อมีข่าวว่าบัณฑิตหลายมหาวิทยาลัยฆ่าตัวตาย ข่าวเช่นนี้เกิดบ่อยเสียจนต้องคิดว่า กระบวนการผลิตบัณฑิตมิได้ฝึกให้รู้จักปรับตัวและแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี การพัฒนาสุขภาพจิตจึงเป็นเรื่องสำคัญในมหาวิทยาลัย ทุกวันนี้ ผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา ส่วนใหญ่ต่างก็เครียด คับข้องใจ และมุ่งแข่งขัน นิสิตนักศึกษาว้าเหว่ เหงาและโดดเดี่ยว ระบบอาจารย์ที่ปรึกษา ระบบการปรึกษาและแนะแนวจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

มหาวิทยาลัยเริ่มสนใจกระบวนการกัลยาณมิตรที่เปิดโอกาสให้บุคลากรและนิสิตนักศึกษาได้ช่วยเหลือเกื้อกูล แนะแนวทางซึ่งกันและกัน ตลอดจนกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เส้นทางดำเนินชีวิตอย่างไม่เป็นทางการ ทุกวันนี้มี "การประชุม" มากเกินไปในมหาวิทยาลัย แต่ขาดแคลนกิจกรรมที่เราจะพบปะพูดคุยกันอย่างเปิดเผยและปลอดโปร่งโล่งใจ

เมื่อตัวป้อนของมหาวิทยาลัยเป็นมนุษย์ สถาบันนี้จึงต้องเป็นองค์กรที่มีชีวิต มีสุขภาวะ และสร้างปัญญาหาร 4 หมู่ คือ ความรู้ ความคิด ความสามารถ และความดี ให้แก่ผู้ที่จะเป็นบัณฑิตเกิดความรู้ดี คิดดี และทำดี

ชีวิตของนิสิตนักศึกษามิได้อยู่เพียงในห้องเรียนและห้องปฏิบัติการเท่านั้น นอกเหนือจากคำบรรยาย ตำรา และโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ เขายังได้สัมผัสกับบรรยากาศ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และผู้คนมากมาย บริบทเหล่านี้จะช่วยสร้างลักษณะที่เป็นทั้งคุณและโทษ ถ้าเขาคุ้นชินกับวิธีการเรียน ศึกษาค้นคว้าน้อยๆ แต่ต้องการคะแนนมาก คุ้นชินกับอาคารเรียน ห้องอาหาร ห้องน้ำที่สกปรก คุ้นชินกับสิ่งแวดล้อมที่แห้งแล้ง มีเศษขยะทิ้งเกลื่อน และเสียงพูดคุยที่หยาบคาย ตะโกนตะคอกใส่กัน เมื่อเขาเป็นบัณฑิต เขาก็จะเคยตัวที่ต้องหาวิธีทำงานน้อยๆ เพื่อให้ได้เงินมากๆ เคยตัวต่อการผรุสวาทด่าทอ เคยตัวต่อการดำรงชีวิตที่สกปรกทั้งกายและใจ

มหาวิทยาลัยต้องการผลผลิตเช่นนี้หรือ?

จริงอยู่ มหาวิทยาลัยมีประเด็นหลายประการที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ ความเป็นเลิศในการแข่งขัน การเข้าถึงความรู้ที่ก้าวไกลอย่างไม่หยุดยั้ง ความเสมอภาค และเป็นธรรมทางการศึกษา ประสิทธิภาพทางการวิจัยและวิชาการของคณาจารย์ คุณภาพของการเรียนการสอนและคุณภาพของบัณฑิต เป็นต้น แต่ผู้เขียนก็อยากเห็นมหาวิทยาลัยก้าวพ้นจากระบบคิดอย่างเดิมๆ ก้าวข้ามจากการเป็นโรงงานผลิตปริญญาบัตร ก้าวกระโดดจากการเป็นมหาวิทยาลัยมาม่าไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชีวิต สร้างปัญญาและแสงสว่างให้ชีวิตของบัณฑิตทุกคน

ในการบรรยายเรื่องวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยครั้งหนึ่ง ผู้เขียนได้สรุปเบญจลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นองค์กรหนึ่งของสังคมว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องสร้างคุณลักษณะของมหาวิทยาลัย 5 ประการคือ

1.มหาวิทยาลัยต้องเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง (healthy organization)

2.มหาวิทยาลัยต้องเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนา (learning organization)

3.มหาวิทยาลัยต้องเป็นองค์กรที่มีเสรีภาพทางปัญญา (intellectual organization) คือไม่ตกอยู่ในกับดักของหลักเกณฑ์ที่เป็นกรอบตายตัว ไม่ยอมจำนนต่อความยากและอุปสรรคในการริเริ่มสิ่งใหม่ที่สร้างสรรค์

4.มหาวิทยาลัยต้องเป็นองค์กรที่มีพลัง (smart organization) มีการเสริมพลังทวีคูณอยู่เสมอ ถ้าจะใช้ภาษาทันสมัยก็คือ เท่อย่างมีท่วงท่า...มีเอกลักษณ์และศักยภาพ

5.มหาวิทยาลัยต้องเป็นองค์กรที่มีชีวิต (living organization) มีความเติบโตงอกงาม ไม่ชะงักงันและเหี่ยวเฉา มีบรรยากาศคึกคักทางวิชาการ เบิกบานด้วยกิจกรรมสัมพันธ์ และเปิดกว้างออกไปสู่สังคมส่วนรวม

ท่านระพินทรนาถ ตะกอร์ รัตนกวีชาวอินเดียได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย ชื่อ "อาศรมศานตินิเกตัน" เมื่อ พ.ศ.2444 เป็น "...สำนักศึกษาที่ประชาชนผู้แตกต่างกันด้วยอารยธรรมและประเพณี ได้เรียนรู้วิธีอยู่ร่วมกัน...เด็กที่มีสติปัญญาปานกลางหรือต่ำกว่าสามัญ ก็อาจได้รับการอบรมให้เป็นพลเมืองดีงามจนกลายเป็นบุคคลมีประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองได้...ท่านเห็นว่ามนุษย์เราเปรียบประดุจเมล็ดพืช ถ้าเพาะผิดวิธีก็ไม่งอกงาม แต่ถ้าถูกวิธี คือถูกแก่อัธยาศัย จิตใจ และสติปัญญาแล้ว พืชที่แม้จะมีทีท่าว่าจะไม่แตกดอกออกกอ ก็อาจเจริญเติบโตกลายเป็นไม้มีค่าต่อไปก็ได้..."

ความสดสวยของดอกไม้มิได้เกิดจากการระบายสี
แววขนที่เลื่อมลายระยับยามยูงรำแพนไม่มีใครแต่งแต้ม
ดวงไฟย่อมจุดไม่ติดหากขาดเชื้อเพลิงอยู่ภายใน
ยากนักที่เราจะเติมโอชารสที่เปลือกผลไม้
ใครเล่าจะผลิตบัณฑิตให้เป็นศึกษิตที่สง่างาม
คุณลักษณะทุกอย่างของทุกสิ่ง ทุกคนย่อมฉายออกจากภายในมากกว่าการห่อหุ้มฉาบทาจากภายนอก

นี่คือบทความที่เป็นเศษเสี้ยวหนึ่งของความคาดหวังต่อพันธกิจของมหาวิทยาลัย เป็นการมองภาพรวมของระบบมากกว่าการเจาะจงลงลึกในแต่ละด้าน เป็นความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะทัดทานมิให้มหาวิทยาลัยเป็นโรงงานผลิตปริญญาบัตรและจัดการอุดมศึกษาเชิงพาณิชย์
จะเกิดผลอย่างไรก็แล้วแต่บุญกรรมที่จะกระทบต่ออนาคตของประเทศไทย

ที่มา: มติชน วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10962หน้า 9

วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2551

เลี้ยงเด็กให้เป็นคนดี

ไม่บ่อยครั้งนักที่จะได้เห็น ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เขียนบทความที่ไม่ใช่บทความวิพากษ์วิจารณ์การเมือง ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ ฉบับวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๑ อาจารย์ชัยอนันต์ได้เขียนบทความเรื่อง "เลี้ยงเด็กให้เป็นคนดี" โดยอาศัยประสบการณ์การเลี้ยงดูบุตร-ธิดา ของท่านเอง บทความนี้น่าสนใจ และมีข้อคิดที่ดี เผื่อสมาชิก Blog KM จะได้นำประสบการณ์ของอาจารย์ชัยอนันต์ไปใช้บริหารครอบครัวและเลี้ยงดูลูกของท่านได้


เลี้ยงเด็กให้เป็นคนดี

ชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้จัดการออนไลน์ 2 มีนาคม 2551

ผมมีลูก 3 คน เป็นฝาแฝดชาย-หญิง และคนเล็กเป็นชาย คนเล็กเพิ่งแต่งงานไปเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมนี้เอง โบราณว่าเป็นฝั่งเป็นฝากันหมดแล้ว ผู้ใหญ่ที่ไปงานบอกว่า เรามีบุญที่มีลูกๆ ดีทุกคน เหมือนกับแต่ก่อนที่ใครๆ พูดว่าพ่อ-แม่ผมมีลูกดีทุกคน

การมีลูกดีคงหมายถึง ลูกซึ่งมีความประพฤติดี มีการงานทำเป็นหลักเป็นฐาน การเลี้ยงลูกให้ดีนั้น เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน แต่ละครอบครัวมีวิธีการเลี้ยงดูอบรมต่างกัน

ตามประสบการณ์ของผม การเลี้ยงลูกให้ดีนั้นต้องเริ่มตั้งแต่ลูกอยู่ในท้องแม่ ป้าครูหรือคุณครูเนี้ยน สโรชมาน ชอบบอกผมว่า ผมจะต้องเป็นเด็กดี เพราะแม่ผมนั้นเวลาท้องผม ก็กินแต่ผักเพื่อให้ผมเติบโตมาแข็งแรง และฉลาดมีสุขภาพอนามัยดี คนสมัยใหม่บางคนเปิดเพลงให้เด็กในท้องฟังด้วย นัยว่าเป็นการกล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยน

เมื่อเด็กเกิดมาแล้วพอรู้ความก็จะได้รับการสั่งสอนอบรม ทั้งความประพฤติและมารยาท นอกจากนั้น ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกที่ผมอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับท่านผู้อ่านคือ

1. การเล่านิทานก่อนนอน เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเด็กได้เรียนรู้หลายอย่าง การเรียนรู้ด้วยการเล่าเรื่องเป็นวิธีการสอนที่สนุกและเพลิดเพลิน ผมนอนกับย่า ย่าผมมีเรื่องเล่าเยอะแยะ ตั้งแต่นิทานจักรๆ วงศ์ๆ ไปจนถึงเรื่องที่ย่าแต่งเองก็มี
2. อย่าสอนให้เด็กมีความอิจฉาริษยา หากมีพี่น้องก็อย่าเปรียบเทียบ โตขึ้นเด็กจะมีจิตใจไม่ดี
3. อย่าขู่เด็ก แต่ควรหาเหตุผลมาพูดกับเด็ก เวลาต้องการให้เด็กทำอะไร ควรพูดจาหว่านล้อมมากกว่าการข่มขู่หรือหลอก
4. ผู้ใหญ่ควรรักษาอารมณ์ให้คงเส้นคงวา อย่าตำหนิหรือลงโทษเด็กด้วยการใช้อารมณ์ หรือการประชดประชัน
5. แม้จะมีปัญหาครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาระหว่างสามี-ภรรยา ปัญหาการเมือง ปัญหาการงาน ก็ไม่ควรนำมาพูดให้เด็กฟัง
6. เมื่อเด็กโตขึ้น พ่อ-แม่ควรอยู่บ้านอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา โดยเฉพาะเวลาอาหารเย็น และมีเวลาว่างที่พาลูกไปเที่ยว
7. ควรพาลูกไปงานตามสมควร อย่างน้อยก็ไปบ้านญาติหรือไปร่วมงานที่เด็กไปได้ จะเป็นการสอนให้เด็กรู้จักวางตัวเข้าสังคม
8. ไม่ควรให้รางวัลเด็กอย่างพร่ำเพรื่อ หรือมากจนเกินไป การที่เด็กประพฤติดี เรียนดี ถือว่าเป็นการทำหน้าที่อยู่แล้ว
9. ไม่ควรให้เงินเด็กมากเกินไป
10. ควรสอนเด็กด้วยการทำตัวเป็นแบบอย่าง หากไม่ต้องการให้ลูกเล่นการพนัน สูบบุหรี่ กินเหล้า พ่อ-แม่ก็ต้องละเว้นจากอบายมุขเหล่านี้ด้วย
11. พ่อแม่ต้องพาเด็กไปวัดไปหาพระ และประกอบพิธีทางศาสนา
12. ที่บ้านควรมีตู้หนังสือ สอนการรักการอ่านให้กับเด็ก การอ่านหนังสือเป็นการสร้างสมาธิและการคิด
13. การที่จะทำให้เด็กมีจิตใจดี มีเมตตากรุณานั้น ไม่มีอะไรดีไปกว่าการให้เด็กมีสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัข (ลูกๆ ผมรักสุนัขมาก โดยเฉพาะคนเล็กชอบเก็บหมามาเลี้ยง เวลาไปเล่นกอล์ฟก็ชอบซื้อขาไก่ และขนมต่างๆ ให้หมากิน) การเลี้ยงหมามีผลต่อการสร้างความเมตตา และทำให้จิตใจอ่อนโยนยิ่งกว่าการฟังหรือเล่นดนตรี เพราะการเลี้ยงหมาเป็นปฏิสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิต
14. ควรหางานอดิเรกให้เด็กทำ เพราะเป็นการสอนการใช้เวลาว่างที่ดี
15. ควรสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก โดยยกตัวอย่างผู้มีความดี หรือประสบความสำเร็จให้เด็กอยากเอาอย่าง
16. ควรสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้เด็ก ให้เด็กทำสิ่งที่ง่ายไปหายาก และคอยให้กำลังใจ ไม่ตำหนิหากเด็กมีความผิดพลาด
17. สอนให้เด็กมีสัมมาคารวะ มีความอ่อนโยน แต่ก็มีจิตใจที่เข้มแข็ง
18. ให้เด็กรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไม่เห็นแก่ตัว
19. ไม่สนับสนุนให้เด็กชอบความหรูหรา ฟุ่มเฟือย หรือนิยมวัตถุสินค้าราคาแพง
20. สอนให้เด็กเข้าใจว่า การตรงต่อเวลามีความสำคัญ
21. สอนให้เด็กตระหนักถึงความซื่อสัตย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
22. สอนให้เด็กมีความอดทนในการทำงาน และทำงานอย่างมีคุณภาพ
23. สอนให้เด็กรู้จักการแบ่งเวลา
24. สอนให้เด็กมีวินัยในตนเอง ควบคุมตัวเองได้ ใช้เวลาในทางที่เป็นประโยชน์
25. สอนให้เด็กมองโลกในแง่ดี รู้จักอุเบกขา และการให้อภัย ไม่ผูกใจเจ็บอาฆาตคน แต่ต้องรู้จักระมัดระวังตัว หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และความรุนแรง
26. สอนให้เด็กรู้จักเสียสละ และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว
27. พาเด็กไปเที่ยวในสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อม และธรรมชาติที่สวยงาม เพื่อย้อมใจให้เกิดความรักในธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
28. เวลาเด็กทำผิด หากไม่ใช่ความผิดที่ร้ายแรงก็เพียงแต่ตักเตือน การตักเตือนอาจใช้เพียงภาษากายก็พอ ไม่จำเป็นต้องดุด่าว่ากล่าว หากเด็กรู้ตัวว่าผิดแล้วก็ไม่ควรซ้ำเติม
29. ให้ความไว้วางใจแก่เด็ก ไม่ใช่เอาแต่ห้ามหรือคอยระแวดระวังจับผิด
30. ให้ความเป็นเพื่อนกับเด็ก

ทั้ง 30 ข้อนี้เป็นประสบการณ์ที่ผมได้จากครอบครัว และผมใช้ปฏิบัติต่อลูก รวมไปถึงเด็กนักเรียนวชิราวุธ ในขณะที่ผมเป็นผู้บังคับการอยู่ด้วย เป็นการเลี้ยงดูอบรมเด็กที่บางคนอาจเห็นว่า “อ่อน” เกินไป เพราะไม่มีการบังคับจ้ำจี้จ้ำไช แต่เด็กๆ ที่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยแบบนี้ จะมีความไว้วางใจผู้อื่น มีวินัยในตนเอง เกรงกลัวบาป มีความเป็นอิสระ มีจิตใจดี โอบอ้อมอารี ไม่เห็นแก่ตัว มีความเมตตากรุณา
ผมไม่แน่ใจว่า ผู้ที่ผ่านการเลือกตั้งเข้ามาปกครองประเทศ จะเคยเป็นเด็กที่ได้รับการปฏิบัติเช่นนี้หรือไม่ ผมเห็นว่าพฤติกรรมของคนเราสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตวัยเด็ก การเอาใจใส่เด็ก และอบรมบ่มนิสัยให้ดีจึงสำคัญมากกว่าสิ่งอื่นใด

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000025760