พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับ "ความรู้"

“...ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดถือเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้ความรู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔

วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

หลักการทรงงานใน"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"



หลักการทรงงานใน"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ให้ข้าราชการสำนักพึงน้อมรับใส่เกล้าฯเป็นแนวทางปฏิบัติ

หมายเหตุ : "หลักการทรงงาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" นี้เป็นการประมวลจากคำบรรยายของ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในการสัมมนา เรื่อง องค์การที่มีคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล จัดโดยสำนักพระราชวัง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้าราชการสำนักพึงน้อมรับใส่เกล้าฯเป็นแนวทางปฏิบัติ "มติชน" เห็นว่าเนื้อหาของคำบรรยาย คนไทยโดยทั่วไปพึงน้อมรับใส่เกล้าฯเป็นแนวทางปฏิบัติด้วย จึงขอนำมาเสนอ
-----------------------
หลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
-----------------------
มนุษย์สามารถเข้าถึงที่สูงสุด 3 ประการคือ
1.ความดี
2.ความจริง
3.ความงาม
ในความจริงที่มีความดีและความงาม ในความดีที่มีความจริงและความงาม ในความงามที่มีความจริงและความดี
คุณธรรม คือ สิ่งกำกับจิตใจให้ปรากฏออกมาเป็นพฤติกรรมที่กำหนดได้ว่าเป็นความดี ความจริง และความงาม
คนมีคุณธรรม คือ คนที่มีเครื่องกำกับจิตใจให้การกระทำและคำพูดปรากฏออกมาเป็นความดี ความจริง และความงาม
คนไร้คุณธรรม คือ คนที่มีเครื่องกำกับจิตใจให้การกระทำและคำพูดปรากฏออกมาเป็นความเลว ความเท็จ และความอัปลักษณ์

หลักการทรงงาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


"60 ปี ครองราชย์ ประโยชน์สุข ประชาราษฎร์"
(สำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2549)

1.ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ

การ ที่จะพระราชทานโครงการใดโครงการหนึ่ง จะทรงศึกษาข้อมูล รายละเอียดอย่างเป็นระบบ ทั้งจากข้อมูลเบื้องต้น จากเอกสาร แผนที่ สอบถามจากเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และราษฎรในพื้นที่ให้ได้รายละเอียดที่ถูกต้องเพื่อจะพระราชทานความช่วยเหลือ ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วตามความต้องการของประชาชน

2.ระเบิดจากข้างใน
หมาย ความว่า ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนาให้มีสภาพพร้อมที่จะรับ การพัฒนาเสียก่อน มิใช่การนำเอาความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนหมู่บ้านที่ยัง ไม่ทันได้มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว

3.แก้ปัญหาที่จุดเล็ก
ทรงมองปัญหาในภาพรวม (แมคโคร) ก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาจะเริ่มจากจุดเล็กๆ (ไมโคร) คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่คนมักจะมองข้าม
"...ถ้าปวดหัวคิดอะไรไม่ออก...ต้องแก้ไขการปวดหัวนี้ก่อน...เพื่อให้อยู่ในสภาพที่คิดได้..."

4.ทำตามลำดับขั้น
ทรง เริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นที่สุดของประชาชนก่อน ได้แก่ สาธารณสุข ต่อไปจึงเป็นเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และสิ่งจำเป็นสำหรับประกอบอาชีพ การพัฒนาประเทศต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่ก่อนจึงค่อยสร้าง ค่อยเสริมความเจริญ และเศรษฐกิจขั้นสูงโดยลำดับต่อไป

5.ภูมิสังคม
การ พัฒนาใดๆ ต้องคำนึงถึง (1) ภูมิประเทศของบริเวณนั้น (ดิน, น้ำ, ป่า, เขา ฯลฯ) (2) สังคมวิทยา (นิสัยใจคอของผู้คน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น)

6.องค์รวม

ทรงมีวิธีคิดอย่างองค์รวม (holistic) หรือมองอย่างครบวงจร
ทรงมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง

7.ไม่ติดตำรา

การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ มีลักษณะของการพัฒนาที่อนุโลม และรอมชอมกับสภาพธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และสภาพของสังคมจิตวิทยาแห่งชุมชน
"ไม่ติดตำรา"
ไม่ผูกมัดกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนไทย

8.ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด

ทรง ใช้หลักในการแก้ไขปัญหาด้วยความเรียบง่ายและประหยัด ราษฎรสามารถทำได้เอง หาได้ในท้องถิ่น และประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาคนั้นๆ มาแก้ไขปัญหา โดยไม่ต้องลงทุนสูงหรือใช้เทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยากนัก
"ให้ปลูกป่า โดยไม่ต้องปลูกป่า โดยปล่อยให้ขึ้นเองตามธรรมชาติ จะได้ประหยัดงบประมาณ"

9.ทำให้ง่าย - simplicity

ทรง คิดค้น ดัดแปลง ปรับปรุง และแก้ไขงานการพัฒนาประเทศตามแนวพระราชดำริโดยง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ทรงโปรดที่จะทำสิ่งยากให้กลายเป็นง่าย ทำสิ่งที่สลับซับซ้อนให้เข้าใจง่าย
"ทำให้ง่าย"

10.การมีส่วนร่วม

ทรง เป็นนักประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้สาธารณชน ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับได้มาร่วมกันแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่องที่ต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชน หรือความต้องการของสาธารณชน
"... ต้องหัดทำใจให้กว้างขวาง หนักแน่น รู้จักรับฟังความคิดเห็นแม้กระทั่งความวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นอย่างฉลาด เพราะการรู้จักรับฟังอย่างฉลาดนั้นแท้จริง คือ การระดมสติปัญญาและประสบการณ์อันหลากหลาย มาอำนวยการปฏิบัติบริหารงานให้ประสบความสำเร็จที่สมบูรณ์นั่นเอง ..."

11.ประโยชน์ส่วนรวม

" ...ใครต่อใครก็มาบอกว่า ขอให้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม อาจมานึกในใจว่า ให้ๆ อยู่เรื่อยแล้ว ส่วนตัวจะได้อะไร ขอให้คิดว่า คนที่ให้เพื่อส่วนรวมนั้นมิได้ให้แต่ส่วนรวมอย่างเดียว เป็นการให้เพื่อตัวเองสามารถที่มีส่วนรวม ที่จะอาศัยได้..." (มข.2514) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงระลึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญเสมอ

12.บริการที่จุดเดียว
ทรงให้ "ศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" เป็นต้นแบบในการบริหารรวมที่จุดเดียว เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนที่จะมาใช้บริการ จะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยมีหน่วยงานราชการต่างๆ มาร่วมดำเนินการและให้บริการประชาชน ณ ที่แห่งเดียว
"...เป็นสองด้าน ก็หมายถึงว่า ที่สำคัญปลายทางคือ ประชาชนจะได้รับประโยชน์และต้นทางของเจ้าหน้าที่จะให้ประโยชน์"

13.ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ

การ เข้าใจถึงธรรมชาติ และต้องการให้ประชาชนใกล้ชิดกับธรรมชาติ ทรงมองอย่างละเอียดถึงปัญหาของธรรมชาติ หากเราต้องการแก้ไขธรรมชาติจะต้องใช้ธรรมชาติเข้าช่วยเหลือ เช่น การแก้ไขปัญหาป่าเสื่อมโทรม โดยพระราชทานพระราชดำริ การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก (ต้นไม้) ปล่อยให้ธรรมชาติช่วยในการฟื้นฟูธรรมชาติ

14.ใช้อธรรมปราบอธรรม

ทรง นำความจริงในเรื่องความเป็นไปแห่งธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาเป็นหลัก การ และแนวปฏิบัติที่สำคัญในการแก้ปัญหาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ไม่ปกติ เข้าสู่ระบบที่เป็นปกติ เช่น การนำน้ำดีขับไล่น้ำเสีย การใช้ผักตบชวาบำบัดน้ำเสีย โดยดูดซึมสิ่งสกปรกปนเปื้อนในน้ำ

15.ปลูกป่าในใจคน
"...เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง..."
การที่จะฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืนมา จะต้องปลูกจิตสำนึกให้คนรักป่าเสียก่อน

16.ขาดทุนคือกำไร

"... ขาดทุนคือกำไร Our Ioss is our gain...การเสียคือการได้ ประเทศก็จะก้าวหน้า และการที่คนจะอยู่ดีมีสุขนั้นเป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้..."
หลักการคือ "การให้" และ "การเสียสละ" เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไร คือ ความอยู่ดีมีสุขของราษฎร
"... ถ้าเราทำอะไรที่เราเสีย แต่ในที่สุดที่เราเสียนั้นเป็นการได้ทางอ้อม ตรงกับงานของรัฐบาลโดยตรง เงินของรัฐบาล หรืออีกนัยหนึ่ง คือเงินของประชาชน ถ้าอยากให้ประชาชนอยู่ดีกินดีก็ต้องลงทุน..."

17.การพึ่งตนเอง

การ พัฒนาตามแนวพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ด้วยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้เขาแข็งแรงพอที่จะดำรงชีวิตได้ต่อไป แล้วขั้นต่อไปก็คือ การพัฒนาให้เขาสามารถอยู่ในสังคมได้ตามสภาพแวดล้อม และสามารถ "พึ่งตนเองได้" ในที่สุด

18.พออยู่พอกิน

สำหรับ ประชาชนที่ตกอยู่ในวงจรแห่งความทุกข์เข็ญนั้น ได้พระราชทานความช่วยเหลือให้เขาสามารถอยู่ในนั้น "พออยู่พอกิน" เสียก่อนแล้วจึงค่อยขยับขยายให้มีขีดสมรรถนะ ที่ก้าวหน้าต่อไป
" ... ถ้าโครงการดี ในไม่ช้าประชาชนจะได้กำไร จะได้ผล ราษฎรจะอยู่ดีกินดีขึ้น จะได้ประโยชน์ต่อไป ..."

19.เศรษฐกิจพอเพียง
เป็น แนวทางการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างความเข้มแข็งหรือภูมิคุ้มกันทุกด้าน ซึ่งจะสามารถทำให้อยู่ได้อย่างสมดุล ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง
ปรัชญานี้ได้มีการประยุกต์ใช้ทั้งระดับบุคคล องค์กร ชุมชน และทุกภาคส่วนมาแล้วอย่างได้ผล

20.ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน
" ...ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อยก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่าผู้ที่มีความรู้ มากแต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ... " (18 มี.ค.2533)

21.ทำงานอย่างมีความสุข

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเกษมสำราญและทรงมีความสุข ทุกคราที่จะช่วยเหลือประชาชน
" ...ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ... "

22.ความเพียร : พระมหาชนก

พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มทำโครงการต่างๆ ในระยะแรกที่ไม่มีความพร้อมมากนัก และทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้น แต่พระองค์ก็มิได้ท้อพระราชหฤทัย มุ่งมั่นพัฒนาบ้านเมืองให้บังเกิดความร่มเย็นเป็นสุข

23.รู้-รัก-สามัคคี

รู้ : การที่เราจะลงมือทำสิ่งใดนั้น จะต้องรู้เสียก่อน รู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหา และรู้ถึงวิธีแก้ปัญหา
รัก : เมื่อเรารู้ครบด้วยกระบวนความแล้ว จะต้องเห็นคุณค่า เกิดศรัทธา เกิดความรักที่จะเข้าไปลงมือปฏิบัติแก้ปัญหานั้นๆ
สามัคคี : เมื่อถึงขั้นลงมือปฏิบัติต้องคำนึงเสมอว่าเราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือร่วมใจกัน สามัคคีกันเป็นหมู่คณะ จึงจะเกิดพลังในการแก้ปัญหาให้ลุล่วงด้วยดี

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 มติชนออนไลน์

วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ทศพิธราชธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว




ทศพิธราชธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

อำนวยพร ท่านอธิการบดี คณาจารย์ และท่านผู้เกียรติวันนี้อาตมาภาพได้รับอาราธนาให้มาบรรยายในรายการบรรยายพิเศษเรื่อง “พระราชจริยาวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
ในหัวข้อย่อยที่ว่า “ทศพิธราชธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
ซึ่งทาง สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ นี้

และเพื่อเฉลิมฉลองวโรกาสรัชมังคลาภิเษก ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ หัวข้อที่กำหนดให้บรรยายในวันนี้หากจะกล่าวกันอย่างกว้างๆ แล้วก็ได้แก่เรื่องพระจริยาวัตรในด้านที่เนื่องกับพระพุทธศาสนา
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั่นเอง

• พ ร ะ พุ ท ธ ศ า ส น า กั บ ค น ไ ท ย

คงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าพระพุทธศาสนาได้มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนไทยมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ คืออาจจะกล่าวได้ว่าเริ่มตั้งแต่ชาติไทยขึ้นมาเป็นปึกแผ่น และก็ได้รับการอนุรักษ์สืบทอดต่อๆกันมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยมิได้ขาดสาย

ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างพระพุทธศาสนากับคนไทยนั้นเราอาจจะกล่าวได้อย่างกว้างๆ ว่า
มีทั้งในด้านการปกครอง การศึกษา การสังคม และจารีตประเพณี ซึ่งทั้งหมดนี้ เมื่อประมวลเข้าด้วยกันแล้วก็รวมเรียกได้ว่า “วัฒนธรรมไทย” อันหมายความว่า ระบบหรือแบบแผนที่สร้างความวัฒนะ คือ ความเจริญให้แก่คนไทยหรือของคนไทย

ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมของไทย ทั้งในด้านการปกครอง การศึกษา การสังคมจารีตประเพณี นั้น ได้สร้างสมหรือเจริญเติบโตขึ้นมาโดยอาศัยพระพุทธศาสนา หรือธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นรากฐานมาโดยตลอด ความจริงดังนี้ คงจะเห็นได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งโดยตรงและทางอ้อม

• พระพุทธศาสนากับพระมหากษัตริย์ไทย

การปกครองของไทยแต่โบราณมา มีศูนย์ของการปกครองรวมอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นพระประมุขของรัฐ เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่าง พระพุทธศาสนากับการปกครองของไทย ก็คือการกล่าวถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่าง พระพุทธศาสนากับพระมหากษัตริย์นั่นเอง

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนา จึงมิได้แสดงระบบหรือระบอบการปกครองทางการเองอย่างใดอย่างหนึ่ง แสดงแต่ทางการศาสนาคือธรรม แต่ธรรมนี่เองพึงนำไปปฏิบัติให้การทุกๆอย่างโดยเหมาะสม เช่น ในทางการปกครอง ทางการศึกษา ทางสังคม เป็นต้น เพื่อให้เกิดความสุขความเจริญ เป็นวัฒนธรรม อารยธรรม ในทางต่างๆ

วิธีการที่พระพุทธเจ้าทางแสดงธรรมนั้น คือทรงแสดงธรรมเพื่อให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริงตามเหตุผล
ตามความเหมาะสมแก่สภาพสภาวการณ์เป็นต้นที่เกี่ยวข้องโดยวิธีที่จะให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟังในทางที่เกื้อกูล ในทางก่อให้เกิดสุขเรียกสั้นด้วยคำในปัจจุบันว่า เพื่อความสุขความเจริญ

นอกจากนี้ ยังเป็นหลักธรรมที่นำไปปฏิบัติได้ตลอดไปทุกกาลสมัย ธรรมที่ตรัสสอนไว้ในครั้งพุทธกาล จึงปฏิบัติได้ผลเกื้อกูลให้เกิดความสุข ความเจริญได้ในปัจจุบัน บัดนี้ของทุกกาลสมัย เช่น เมื่อทรงแสดงธรรมแก่ผู้ปกครอง ก็ทรงแสดง "ทศพิธราชธรรม"
คือ ธรรมสำหรับพระราชา ๑๐ ประการ เพราะศูนย์รวมของการปกครอง หรือกลไกสำคัญ
อันจะนำไปสู่ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการปกครองอยู่ที่ผู้ปกครอง ตั้งต้นแต่พระราชาผู้เป็นพระประมุขของรัฐ

ฉะนั้น หลักทศพิธราชธรรม จึงเน้นความสำคัญของผู้นำ หรือเน้นที่ตัวผู้นำ ว่าจะต้องมีคุณสมบัติหรือมีคุณสมบัติอะไรบ้าง จึงจะนำประเทศชาติไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุข

ทรงแสดง "อปริหานิยธรรม" คือ ธรรมอันจะไม่ก่อให้เกิดความเสื่อม แต่ก่อให้เกิดความเจริญอย่างเดียว ๗ ประการ แก่ คณะเจ้าลิจฉวีผู้ปกครองแคล้นวัชชี ซึ่งมีจุดสำคัญของการปกครองอยู่ที่การร่วมมือร่วมใจของคณะผู้ร่วมดำเนินการปกครอง หรือที่เรียกสั้นๆว่าคณะปกครอง

ฉะนั้น หลักอปริหานิยธรรม จึงเน้นที่ความสามัคคีพร้อมเพรียงและความเป็นธรรมของคณะผู้ปกครอง

นอกจากนี้ ก็ยังได้ทรงแสดงธรรมปลีกย่อยอันเนื่องในการปกครองและเกี่ยวกับผู้ปกครองไว้อีกมาก ดังเช่น ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่แคว้นสักกะ ตอนเช้าเสด็จเข้าบิณฑบาตในศากยนิคมแห่งหนึ่งในขณะที่พราหมณ์คฤหบดีกำลังประชุมกันอยู่ในสภาด้วยกรณีย์บางอย่าง ขณะนั้น ฝนลูกเห็บตก พระพุทธเจ้าจึงเสด็จหลบฝนเข้าไปในสภาพวกพราหมณ์คฤหบดีได้เห็นพระองค์แล้ว กล่าวว่าสมณะโล้นพวกไหน คงจะไม่รู้จักสภาธรรม คือ ธรรมบัณฑิตขนบธรรมเนียมพูดเป็นของสภา
พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบว่า

“สภาที่ไม่มีสัตบุรุษ (คือผู้สงบ) หรือคนดี ไม่ชื่อว่าสภา ผู้ไม่พูดเป็นธรรม ไม่ชื่อว่าสัตบุรุษ ผู้ละ (หรือสงบ) ราคะ โทสะ โมหะ พูดเป็นธรรม ย่อมชื่อว่าสัตบุรุษ”

เป็นอันว่าได้ทรงประกาศว่าพระองค์รู้จักสภาธรรม

ดังนี้จะเห็นได้ว่า หลักธรรมสำหรับการปกครองพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้นั้นมีลักษณะเป็นกลางๆ สามารถนำมาปรับใช้ได้กับการปกครองทุกรูปแบบ
ในทางทฤษฎีนั้นเหมือนว่าคำสอนหรือหลักธรรมที่ทรงแสดงไว้แต่ละหมวดหรือแต่ละเรื่องเหล่านี้ต่างกันหรือแยกจากกันแต่ในทางปฏิบัติหลักธรรมต่างๆ ล้วนมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันเสมอ
ดังเช่น เรื่องทศพิธราชธรรม แลอปริหานิยธรรมที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ก็หมายความว่า ผู้ปกครองควรปฏิบัติตนตาม หลักทศพิธราชธรรม และหลักอปริหานิยธรรม รวมทั้งตามหลักปกครองประการอื่นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการปกครอง
อันอาจจะสรุปเข้าในคำเดียว คือ “โดยธรรม เพื่อธรรม” ได้แก่ โดยความเป็นธรรมเพื่อความเป็นธรรม

ฉะนั้น ธรรมทางการปกครองแม้จะมีเป็นอันมาก แม้ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็ดี
ที่ศาสตร์การปกครองต่างๆแสดงไว้ก็ดี ก็รวมเข้าในคำเดียวว่า “โดยธรรม เพื่อธรรม”
ที่จะให้เกิดประโยชน์เกื้อกูล และความสุขอันเป็นความเจริญงอกงามไพบูลย์ต่างๆ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงพระเจ้าจักรพรรดิโดยความว่าพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงยังจักรคืออำนาจให้เป็นไปโดยธรรม จึงเป็นผู้ที่ใครๆ ปฏิวัติไม่ได้

หลักธรรมที่พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบในการปกครองเพื่อให้เป็นไปโดยธรรมนั้นก็คือ ทรงรู้เหตุ ทรงรู้ผล ทรงรู้ประมาณ ทรงรู้กาลเวลา ทรงรู้บริษัท แม้พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้จักเหตุ ทรงรู้จักผล ทรงรู้จักประมาณ ทรงรู้จักกาลเวลา ทรงรู้จักบริษัทดังนี้
ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่ง กราบทูลพระพุทธเจ้าว่าใครเป็นพระราชาของพระเจ้าจักรพรรดิ
พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบว่า คือ ธรรม นั่นเอง เป็นราชาของพระเจ้าจักรพรรดิ
พระเจ้าจักรพรรดิจึงได้ทรงเคารพนับถือธรรม มีธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นใหญ่ ตรัสคำว่า “ธรรมาธิปไตย” มีธรรมเป็นใหญ่
ฉะนั้น เมื่อทุกฝ่ายยอมรับนับถือธรรมเป็นใหญ่ เป็นธรรมาธิปไตยตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสรุปไว้อย่างยิ่งที่สุดนี้ ก็สำเร็จประโยชน์ของการปกครองได้ทั้งหมด

• ก า ร ป ก ค ร อ ง แ บ บ ไ ท ย

สำหรับประเทศไทยนั้น แต่โบราณกาลมามีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์ประมุขตามรูปแบบมาจากคตินิยมดั้งเดิมของไทยเองเป็นที่ตั้ง ประกอบกับธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นแกนและมีวิวัฒนาการมาโดยลำดับตามคตินิยม แบบนานาประเทศที่เกี่ยวข้องเช่น พราหมณ์จากอินเดีย และแบบอื่นๆที่เป็นมาโดยลำดับจนถึงปัจจุบันนี้ตามความเหมาะสมแก่ประเทศไทย คนไทย เป็นแกนมาโดยตลอด และมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขมาโดยตลอด

ลักษณะที่พระมหากษัตริย์ไทยโบราณทรงปฏิบัติเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ทรงปฏิบัติอยู่เป็นประจำนั้น มีปรากฏในประวัติการณ์ของคนชาติไทยนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในรูปของพระราชานุกิจที่กำหนดไว้ในกฏมณเฑียรบาล

ดังเช่น กฏมณเฑียรบาลในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นต้น อันเป็นแบบแผนสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติเป็นประจำวันในการปกครองแผ่นดินพระราชานุกิจที่ได้ตราไว้ในกฏมณเฑียรบาลที่ตั้งขึ้นครั้งกรุงศรีอยุธยาดังกล่าวนี้ พระมหากษัตริย์ไทยได้ทรงปฏิบัติตามสืบๆกันมาทุกพระองค์ตั้งแต่ครั้งปรากฏกฏมณเฑียรบาลในสมัยกรุงศรีอยุยา จนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็เพียงรายละเอียด ส่วนสารัตถะนั้นยังคงเดิมจะขอยกมาพอเป็นตัวอย่างเฉพาะที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ดังนี้

“๙ นาฬิกา เสด็จประทับหอพระฯ
ฯลฯ
๒๓ นาฬิกา โหรและราชบัณฑิตเข้าเฝ้า ทรงสนทนาธรรม”

มาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ดังนี้

“ ๙ นาฬิกา เสด็จลงบาตร
๑๐ นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรง ถวายภัตตาหาเลี้ยงพระสงฆ์ ในท้องพระโรง ฯลฯ
๑๙ นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรง ทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง ฯลฯ

จากตัวอย่างที่ได้ยกมาพอเป็นสังเขปข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนาได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการปกครองของไทยอย่างแนบแน่นมาโดยตลอด
ตั้งแต่อดีตกาลนานไกลมาจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน

และหลักธรรมสำคัญที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงยึดถือปฏิบัติในการทรงปกครองแผ่นดินสืบๆ กันมาแต่โบราณกาลนั้นก็คือ

ทศพิธราชธรรม และราชธรรมประการอื่นๆ ที่พระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ เช่น ราชสังควัตถุ ๕ จักรวรรดิวัตร ๑๒ พละ ๕ เป็นต้น

จากพระจริยาวัตรของพระมหากษัตริย์ไทยดังที่ปรากฏในพระราชานุกิจดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าองค์พระประมุขของชาติทรงใฝ่พระราชหฤทัยในการศึกษาและปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นประจำวันมิได้ขาด
พระราชจริยาวัตรอันนี้มิได้ส่งผลดีเฉพาะแต่ในทางการปกครองแผ่นดินเท่านั้นแต่เป็นผลดีแก่พระพุทธศาสนาอีกด้วย
กล่าวคือ การที่ทรงสนทนาธรรมหรือทรงสดับพระธรรมเทศนาเป็นประจำทุกวันนั้น
เป็นเหตุให้พระเถรานุเถระต้องเรียบเรียงหรือแปลคำสอนของพระพุทธศาสนาจากพระคัมภีร์ต่างๆ เป็นบทเทศนาบ้าง เป็นบทวิสัชนาพระราชปุจฉาบ้างถวายเป็นประจำวันตามที่เห็นสมควรถวายหรือตามพระราชประสงค์

ด้วยเหตุนี้เอง ตำรับตำราทางพระพุทธศาสนาในภาษาไทยอันเป็นอุปกรณ์สำคัญในการศึกษาพระพุทธศาสนาจึงได้เกิดขึ้นมีขึ้นตั้งแต่ครั้งโบราณ

เช่น พระไตรปิฎกแปล มิลินทปัญหาแปล พระปฐมสมโพธิ (พระพุทธประวัติ) เป็นต้น
อันนับได้ว่าเป็นการส่งเสริมการศึกษา และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่งด้วย

เหตุไฉนพระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครองจึงจะต้องปฏิบัติทศพิธราชธรรม

ตามคติทางพระพุทธศาสนานั้น ถือว่าการปฏิบัติทศพิธราชธรรมก็คือการบำเพ็ญบารมีของพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับการปฏิบัติบารมีธรรม ๑๐ ประการ อันเป็นการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์

ต่างกันแต่ว่า การบำเพ็ญบารมีของพระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครองนั้น มุ่งผลคือ ความสุขของประชาชนในปกครองส่วนการบำพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์นั้น มุ่งผลคือความเป็นพระพุทธะหรือความหลุดพ้น ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า ทศพิธราชธรรม คือบารมีธรรมของผู้ปกครองแผ่นดิน เช่นเดียวกับ บารมี ๑๐ คือบารมีธรรมของพระโพธิสัตว์ผู้มุ่งพระโพธิญาณหรือความหลุดพ้น

ฉะนั้นตามคติแห่งพระพุทธศาสนาจึงถือว่าทศพิธราชธรรมนั้น เป็นคุณธรรมจำเป็นสำหรับผู้ปกครองแผ่นดิน เพราะความผาสุกของแผ่นดินจะมีมากน้อยเพียงใดนั้น
ขึ้นอยู่กับธรรมของผู้ปกครองทั้งปวง

• ทศพิธราชธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน

ทั้งหมดที่กล่าวมาในตอนนี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นมาแห่งความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับการปกครองของไทย ซึ่งถ้าจะกล่าวเจาะจงลงไปก็คือ เรื่องทศพิธราชธรรมกับองค์พระประมุขของชาติไทยนั่นเอง ในฐานะที่เป็นคุณธรรมหลักแห่งพระราชจริยาวัตรในการทรงปกครองแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรทั้งปวง

คุณธรรมนี้ได้เป็นที่ยึดถือปฏิบัติของพระมหากษัตริย์ไทยสืบเนื่องกันตลอดมาโดยมิได้สลาย เพราะนั้น การปกครองของมืองไทยเราตั้งแต่โบราณกาลจึงกล่าวได้ว่า แม้องค์พระมหากษัตริย์จะทรงอยู่ในฐานะที่เรียกว่า“สมบูรณาญาสิทธิ” หรือ “ปริมิตสิทธิ” ก็ตาม
ก็จำกัดอยู่โดยธรรม คือทรงปกครองโดยธรรม คือธรรม ปริมิตะ คือว่ากำหนดอยู่โดยธรรมทุกกาลสมัย

ดังจะพึงเห็นได้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยโบราณกาลมาแล้วนั้นมิได้มีพระบรมราชโองการในการปกครองที่เป็นหลักสำคัญโดยลำพังเพียงพระองค์เดียวแต่ย่อมมีมุขอำมาตย์มนตรีและมีกฏหมายต่างๆที่บัญญัติขึ้นสำหรับในการปกครอง ทรงบัญชาให้การปกครองนั้นเป็นไปตามตัวบทกฏหมาย เป็นต้น ที่ได้ตราขึ้นไว้ในสมัยนั้น ซึ่งกล่าวได้ว่า ให้เป็นไปโดยธรรม หรือที่เรียกว่าโดยยุติธรรมนั่นเอง

เพราะฉะนั้น การปกครองแบบไทยตั้งแต่โบราณกาล คือตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงสุโขทัยมาก็ดี จากกรุงสุโขทัยมาแล้วก็ดีเมื่อได้รับนับถือพระพุทธศาสนามาเป็นศาสนาประจำชาติแล้ว
ก็ย่อมเป็นไปเช่นนั้น เป็นธรรมปริมิตะอยู่เช่นนี้เสมอเหมือนกันหมด จะมียิ่งหรือหย่อนกันบ้างก็ตามยุคสมัยนั้นๆ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของชาติไทย ก็ได้ทรงดำรงมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรมตามเยี่ยงโบราณราชประเพณีมาโดยตลอดนับแต่ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ
เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ เป็นต้นมา และได้ทรงประกาศพระราชปณิธานในการปกครองแผ่นดินไว้อย่างชัดเจน ดังพระปฐมพระบรมราชโองการที่ได้พระราชทานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

คำว่า โดยธรรมในพระบรมราชโองการนี้ พึงเข้าใจว่า ตามครรลองแห่งทศพิธราชธรรม
และพระคุณธรรมในทางพระพุทธศาสนานั่นเองคำสอนเรื่อง ทศพิธราชธรรม นั้น
มีแสดงไว้ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาว่า เป็นของเก่า มีมาก่อนพุทธกาลโบราณบัณฑิตนิยมแสดงถวายพระราชาผู้ปกครองประชาชน
ครั้นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้น ทรงเห็นว่าเป็นคำสอนที่ดีมีประโยชน์
จึงได้ทรงนำมาตรัสสอนโดยตรัสเล่าไว้ในคัมภีร์ชาดก นั้นเป็นที่รวมของเรื่องเก่าก่อนพุทธกาลเรียกคำสอนหมวดนี้ว่า "ราชธรรม" มี ๑๐ ประการ คือ

๑. ทาน การให้ เพื่อสงเคราะห์ อนุเคราะห์ บูชา เป็นต้น
๒. ศีล การระวังรักษาความประพฤติทางการ วาจา ตลอดถึงใจ ให้สงบเรียบร้อย
๓. ปริจาคคะ การเสียสละ เช่น การเสียสละสุขส่วนตน เพื่อประโยชน์ส่วนสุขรวม การเสียสละสุขที่พอประมาณเพื่อประโยชน์สุขที่เป็นส่วนใหญ่ การเสียสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ การเสียสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต การที่ยอมเสียสละทั้งชีวิต ทั้งทรัพย์เพื่อรักษาธรรม
๔. อาชชวะ ความซื่อตรง
๕. มัททวะ ความอ่อนโยน
๖. ตปะ ความเพียรพยายามเพื่อกำจัดความเกียจคร้าน และความชั่ว ในอันปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จด้วยดี ไม่ทอดทิ้งหน้าที่
๗. อักโกธะ ความไม่โกรธ ตลอดถึงไม่พยาบาท มุ่งร้ายผู้อื่น
๘. อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียนผู้อื่น ตลอดจนถึงสัตว์มีชีวิตให้ได้ทุกข์เดือดร้อน
๙. ขันติ ความอดทนต่อความทุกข์ยาก ต่อถ้อยคำและเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ทั้งปวง
๑๐. อวิโรธนะ การปฏิบัติไม่ให้ผิดจากทางที่ถูกที่ควร ไม่ให้ผิดจากทำนองคลองธรรม แต่ให้เป็นไปตามธรรม

เนื่องจากราชธรรมมี ๑๐ ประการ จึงนิยมเรียกกันว่า “ทศพิธราชธรรม” ซึ่งแปลตรงตัวว่า ธรรมสำหรับพระราชา ๑๐ ประการ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชจริยาวัตรเนื่องใน ทศพิธราชธรรม อย่างไรบ้าง
สำหรับประชาชนทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยจะมีความรู้เกี่ยวกับทศพิธราชธรรมแล้วก็คงจะไม่เข้าใจหรือมองไม่เห็นว่า ทรงมีพระราชจริยาวัตรที่นับว่าเป็นการปฏิบัติทศพิธราชธรรมอย่างไรบ้าง
แต่สำหรับผู้ที่รู้เรื่องทศพิธราชธรรมดีก็คงประจักษ์ด้วยตนเองว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น
ทรงมีพระราชจริยาวัตรที่มั่นคงอยู่ในหลักทศพิธราชธรรมอย่างไรบ้างพระราชกรณียกิจของพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านต่างๆ เท่าที่ทรงปฏิบัติเป็นประโยชน์สุขแก่ประชาชาติและประชาชน นับแต่เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ซึ่งเป็นเวลายาวนานถึง ๔๒ ปีนั้น
มีมากมายเกินกว่าที่จะบรรยายได้ในที่นี้ และพระราชกรณียกิจเหล่านั้น ก็ล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงพระราชจริยาวัตรอันนับเนื่องใน ทศพิธราชธรรม ทั้งนั้น ในที่นี้จะขอนำมาแสดงพอเป็นตัวอย่าง
เพื่อประกอบความเข้าใจในเรื่องทศพิธราชธรรมแต่เพียงบางประการเท่าที่เวลาจะอำนวยให้
พระราชกรณียกิจที่สำคัญประการหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พวกเราคุ้นหูคุ้นตากันเป็นอย่างดี ก็คือการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนประชาชนในที่ต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และทุกครั้งที่เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยียนนั้น ก็จะพระราชทานสิ่งของต่างๆ แก่ประชา ชนของพวกเขาเหล่านั้น เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประชาชนบ้าง
เพื่อเป็นการช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นบ้าง เช่น ในดินแดนที่ห่างไกลไร้สถานที่ศึกษา ก็พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สร้างโรงเรียนตลอดถึงพระราชทานอุปกรณ์การเรียนแก่นักเรียนในที่ที่ประชาชนขาดที่ที่ทำมาหากิน ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้มีการจัดสรรที่ดินให้ประชาชนเข้าทำมาหากินในรูปของโครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์

เช่น โครงการฯ หุบกะพงจังหวัดเพชรบุรี โครงการฯ ทุ่งลุยลาย จังหวัดชัยภูมิ และพระราชทานที่นาของสำนักงานทรัพย์สินส่วนมหากษัตริย์ในจังหวัดต่างๆ รวมกว่า ๕๐,๐๐๐ ไร่สำหรับจัดสรรให้ประชาชนผู้ยากจนทำกิน เป็นต้น ในบางท้องที่ที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเกษตร ก็ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอุปกรณ์ที่จำเป็น พร้อมทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์เลี้ยงชนิดต่างๆ
ในท้องถิ่นที่ขาดแคลนน้ำก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเหมืองฝายบ้าง อ่างเก็บน้ำบ้าง
พระราชทานหรือพระราชทานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบ้างเป็นต้น
นอกจากจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพัสดุสิ่งของอันจำเป็นแก่การยังชีพและการพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ยังได้ทรงกรุณาพระราชทานพระราชดำริและพระราชดำรัสในทางวิชาการอันเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์และพัฒนาการศึกษา การอาชีพ การสุขอนามัย และความเป็นอยู่ของประชาชนอีกเป็นอเนกประการ

ดังเป็นที่รู้กันอยู่ สิ่งที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ประชาชนในลักษณะต่างๆ ดังกล่าวมานี้ ก็มีทั้งส่วนที่พระราชทานจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และจากทุนทรัพย์ที่มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศล ที่กล่าวมาพอเป็นตัวอย่างนี้ก็ คือพระราชจริยาวัตรในส่วนที่เป็นการปฏิบัติ

ทศพิธราชธรรม ข้อที่ ๑ คือ ทาน

การให้ปันอันเป็นการเฉลี่ยความสุขแก่ผู้อื่นตามควรแก่ฐานะนั้นเอง และจะเห็นได้ว่า สิ่งที่พระราชทานแก่ประชาชนนั้น มีทั้งพัสดุสิ่งของและความรู้ความคิดอันเป็นประโยชน์ ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า พระราชจริยาวัตรใน ทศพิธราชธรรมข้อที่ ๑ คือ ทาน นั้น ได้ทรงปฏิบัติอย่างครบถ้วน คือทั้ง อามิสทาน การให้ปันพัสดุสิ่งของและ ธรรมทาน การให้ปันธรรม คือ ความรู้ ความคิด และข้อแนะนำอันเป็นประโยชน์ต่อผู้รับในด้านต่างๆ ผู้ที่มีโอกาสได้เฝ้าแทนหรือใกล้ชิดพระยุคลบาท คงจะได้ประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงมีพระราชจริยาวัตรทั้งทางพระกายและพระวาจาสงบเรียบร้อยงดงามทรงดำรงพระองค์อยู่ในความสงบและมั่นคง ไม่ว่าจะเสด็จฯหรือประทับ ณ ที่ใด ๆ ไม่ว่าจะอยู่ทามกลางสถานการณ์ใดๆ ไม่ทรงกระทำการใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดเป็นทุกข์เป็นโทษแก่ผู้อื่น
ตรงกันข้าม ทรงปฏิบัติแต่พระราชภารกิจอันจะก่อประโยชน์สุขทั้งแก่ทั้งพระองค์เองและผู้อื่นเท่านั้น ไม่ตรัสพระวาจาอันจะก่อให้เกิดความแตกร้าวและเสียหายต่อผู้อื่น แต่ตรัสเท่าที่จำเป็นและในสิ่งที่มีประโยชน์เท่านั้นอันแสดงถึงการที่ทรงควบคุมพระองค์ได้เป็นเลิศในทุกสถานการณ์
ฉะนั้น ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จฯหรือประทับอยู่ ณ ที่ใด จึงเป็นที่เย็นใจของผู้ใกล้ชิด เป็นที่เคารพยำเกรงของผู้ประสบพบเห็น และเป็นที่ชื่นชมของพสกนิกรทั่วไป พระราชจริยาวัตรอันสงบเยือกเย็นและงดงาม ดังนี้ นับได้ว่าเป็นการทรงปฏิบัติใน ทศพิธราชธรรรม ข้อที่ ๒ คือ ศีล การระวังรักษาความประพฤติทางกาย ทางวาจาให้สงบเรียบร้อยด้วยทรงรักษาพระราชหฤทัยให้สงบเรียบร้อย
นอกจากจะทรงดำรงพระองค์อยู่ในศีลอย่างมั่นคงแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงใฝ่พระราชหฤทัยศึกษาและปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนาตลอดมามิได้ขาด
ทำให้พระราชหฤทัยประกอบด้วยพระคุณธรรมอื่น ๆ อีกอเนกประการ อันเป็นผลสนับ สนุนให้ทรงดำรงพระองค์อยู่ในศีลอย่างมั่นคงได้โดยไม่ลำบากจนกลายเป็นพระปกตินิสัย
ซึ่งเป็นศีลแท้ดังเป็นที่ปารกฎเราท่านทั้งหลายแล้ว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เวลาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนประชาชนในถิ่นต่าง ๆ ทุกภาคของพระราชอาณาจักรประมาณปีละ ๘ เดือน ท้องถิ่นที่เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยียนนั้น บางแห่งก็ทุรกันดารมากบางแห่งถึงต้องเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทเป็นระยะทางนับเป็นกิโลเมตร cต่ก็มิได้ทำให้ทรงย่อท้อพระราชหฤทัย เพราะทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นในอันที่จะเสด็จฯ ไปให้ถึงที่ที่มีปัญหา ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรทุกข์สุขของประชาชนด้วยพระองค์เอง เพื่อที่จะได้ทรงประจักษ์ถึงปัญหาและความต้องการของประชาชนโดยตรงด้วยพระองค์ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้พระราชทานความช่วยเหลือหรือที่จะพระราชทานพระราชดำริแนะนำได้อย่างถูกต้อง คราวหนึ่งได้ทรงมีพระราชดำรัสกับนักข่าวว่า

“ในหลาย ๆ ประเทศสถาบันกษัตริย์เปรียบเสมือนรูปปิระมิดที่มีประชาชนเป็นฐาน
สูงขึ้นไปก็มีข้าราชการต่าง ๆ และกษัตริย์อยู่บนยอดปิระมิด แต่หน้าที่ของพระมหา กษัตริย์ไทยในปัจจุบันกลับกันเป็นปิระมิดที่คว่ำหัวลง คือ ประชาชนประชาชนทั้งหลายอยู่ข้างบนและสถาบันพระมหากษัตริย์กลับอยู่ข้างล่างสุด ทำหน้าที่บริการสนองความต้องการของประชาชนที่อยู่ข้างบน”

จากพระราชดำรัสนี้แสดงถึงพระราชปณิธานในอันที่จะทรงปฏิบัติพระองค์ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนตามพระปฐมบรมราชโองการที่พระราชทานประชาชนว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ด้วยพระราชปณิธานดั่งนี้นั่นเอง ที่กระตุ้นเตือนให้พระองค์ทรงเสียสละความสุขสำราญส่วนพระองค์เสด็จฯ ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ในที่ทุกสถานไม่ว่าจะใกล้ไกลหรือยากลำบากเพียงไรดังเป็นภาพที่คุ้นตาของพวกเราทั้งหลายอยู่แล้ว ซึ่งอันที่จริงแล้วโดยฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะสูงสุดของชาติ พระองค์ไม่จำต้องทรงปฏิบัติดังกล่าวมาแล้วข้างต้นก็ได้ แต่ด้วยพลังแห่งพระมหากรุณาและพระราชปณิธานอันแน่วแน่
จึงทำให้พระองค์ไม่อาจจะทรงเฉยเมยต่อความเป็นไปของพสกนิกรของพระองค์ได้
พระราชกรณียกิจในส่วนนี้ นับได้ว่าเป็นการเสียสละประโยชน์สุขส่วนพระองค์เพื่อประชาชนและประเทศชาติโดยแท้ นับได้ว่าเป็นพระราชจริยาวัตรใน ทศพิธราชธรรม ข้อที่ ๓ คือ ปริจจาคะ การเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม
การที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ อย่างเที่ยงตรงต่อภาระหน้าที่ เที่ยงตรงต่อกาลเวลา และเที่ยงตรงพระราชปณิธานในพระราชหฤทัยที่ทรงมีต่อพสกนิกร โดยมิได้ทรงละเลยและย่อท้อนั้น
นับว่าเป็นพระราชจริยาวัตร ใน ทศพิธราชธรรม ข้อที่ ๔ คือ อาชชวะ ความซื่อตรงต่อตนเอง ต่อหน้าที่ และต่อประชาชน และด้วยพระราชสำนึกในพระคุณธรรมข้อนี้นั้นเอง บางครั้งแม้จะทรงพระประชวร หากไม่มีพระอาการมากจนเกินไป ก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจโดยมิได้ทรงผัดเพี้ยน

ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะในวโรกาสใด หรือ ณ สถานที่ใดจะทรงมีความละมุนละไมและอ่อนโยนเสมอ เป็นต้นว่า ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนตามควรแก่ฐานะด้วยพระพักตร์ที่ยิ้มแย้ม ด้วยพระสุรเสียงที่อ่อนโยนเป็นปกติโดยมิได้ทรงแบ่งชั้นวรรณะ และโดยมิได้ทรงถือพระองค์ บ่อยครั้งที่เราจะเห็นภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับราบบนพื้นเพื่อทรงสนทนากับประชาชน พระราชจริยาวัตรในส่วนนี้นับได้ว่า
ทรงปฏิบัติใน ทศพิธราชธรรมข้อที่ ๕ คือ มัททวะ ความอ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่งถือตัว และด้วยพระคุณธรรมข้อนี้นั้นเองจึงทรงเป็นที่เคารพรักของประชาชนทั่วไปไม่ว่าจะเสด็จ ที่ไหนประชาชนต่างก็พอใจที่จะเฝ้าชมพระบารมีโดยไม่รู้จักเบื่อบางคนอาจจะเดินทางมาจากที่ไกล ๆ เพียงเพื่อขอได้เฝ้าชมพระบารมีเท่านั้นก็พอใจแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานโครงการและพระราชดำริไว้มากมายหลายสาขา ในอันที่จะบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน ตลอดถึงได้ทรงติดตามตรวจสอบผลอันจะพึงได้จากโครงการและพระราชดำรินั้น ๆ โดยใกล้ชิดเสมอ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเสด็จฯไปทอดพระเนตรโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ นั้นด้วยพระองค์เองเสมอมิได้ขาด เมื่อทรงพบข้อบกพร่อง ก็จะทรงพยายามปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น
เมื่อทรงเห็นว่าได้ผลดีมีประโยชน์ก็จะพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ส่งเสริมให้พัฒนายิ่ง ๆ ขึ้น
นี้นับว่าเป็นพระราชวิริยะอุตสาหะในอันที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาสิ่งที่จะเป็นประโยชน์สุขแก่ประเทศชาคิและประชาชนโดยแท้ พระองค์ทรงมีพระราชวิริยะอุตสาหะในพระราชกรณียกิจส่วนนี้อย่างมิรู้จักหยุดยั้ง ฉะนั้น ในปัจจุบันจึงมีโครงการตามพระราชดำริในสาขาต่าง ๆ เกิดขึ้นมากกว่า ๑,๐๐๐ โครงการซึ่งโครงการเหล่านี้มีลักษณะคล้ายเป็นการเริ่มต้นให้รัฐบาลก่อน เป็นแบบที่เรียกกันว่า Pilot Project เมื่อทรงริเริ่มแล้ว รัฐบาลเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงก็จะเข้ามาร่วมสนับสนุนในภายหลัง เหล่านี้คือพระราชจริยาวัตรใน ทศพิธราชธรรม ข้อที่ ๖ คือ ตปะ
ความเพียรพยายามเพื่อกำจัดสิ่งเลวร้ายและสร้างสรรค์สิ่งดีงาม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นทั้งในรูปของวัตถุธรรมและนามธรรมส่วนพระราชจริยาวัตรอันแสดงออกซึ่งพระเมตตาต่อปวงพสกนิกรในทุกโอกาสที่เสด็จฯ ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ไม่เคยทรงแสดงความเกรี้ยวกราดแข็งกระด้างต่อใคร ๆ แต่ทรงปฏิบัติต่อบุคคลต่าง ๆ ด้วยความสุภาพอ่อนโยนอย่างพอเหมาะพอควรแก่สถานะนั้นนับเป็นการทรงปฏิบัติใน ทศพิธราชธรรม ข้อที่ ๗ อักโกธะ ความไม่โกรธไม่แข็งกระด้างและไม่พยาบาทมุ่งร้ายต่อใคร ๆ พระคุณธรรมข้อนี้ คงเป็นที่ประจักษ์แก่ทุกคนอยู่แล้วเช่นกันเนื่องจากทรงดำรงพระองค์มั่นอยู่ในทศพิธราชธรรมข้อ อักโกธะ คือความไม่โกรธ ไม่พยาบาทมุ่งร้ายต่อใคร ๆ จึงเป็นการตัดทางที่จะนำไปสู่การกระทำใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อผู้อื่นอย่างปราศจากศีลธรรมและเหตุผลด้วย และก็ไม่เคยปรากฏว่า ได้ทรงกระทำการใด ๆ อันเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น ตลอดไปถึงสัตว์ด้วย
มีแต่พระราชทานความร่มเย็นอันเป็นพระมหากรุณาในลักษณะต่าง ๆ ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า
ได้ทรงปฏิบัติพระองค์อยู่ใน ทศพิธราชธรรม ข้อที่ ๘ อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน อย่างบริบูรณ์ การปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสและสถานที่ต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาพอเป็นตัวอย่างทั้งหมดนี้ ล้วนแสดงให้เห็นพระคุณธรรมอีกข้อหนึ่งคือ ขันติ ความอดทน อันเป็นทศพิธราชธรรม ข้อที่ ๙ เพราะในการทางปฏิบัติพระราชกรณียกิจในหลาย ๆ โอกาส ในหลายๆ สถานที่ ต้องทรงบุกป่าฝ่าดงไปเป็นระยะทางไกล ๆ
บางครั้งก็ต้องทรงพระราชดำเนินไปท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนระอุบ้าง ท่ามกลางสายฝนบ้าง
และพระราชกรณยกิจที่ต้องทรงปฏิบัตินั้นก็มีมากมายจนแทบจะไม่มีเวลาทรงพระสำราญส่วนพระองค์แต่ถึงกระนั้นก็ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เหล่านั้นให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีโดยมิได้ทรงย่อท้อ ทั้งนี้ด้วยพลังแห่งพระขันติธรรมอันเต็มเปี่ยมอยู่ในพระราชหฤทัยนั่นเองและเมื่อประมวลพระราชจริยาวัตรทั้งมวลที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเข้าด้วยกันก็จัดได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติพระองค์อยู่ในทำนองคลองธรรมและต้องตามพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทั้งหลายในอดีตที่ได้ทรงปฏิบัติสืบ ๆ กันมาแต่โบราณ ไม่ทรงปฏิบัติพระองค์แผกเพี้ยนไปจากขัตติยราชประเพณีอันดีงาม และไม่ทรงละเลยคุณธรรมในทางพระศาสนา ไม่ทรงแสวงหาความสุขสำราญส่วนพระองค์โดยทรงละเลยพระราชภารกิจอันจะพึงปฏิบัติ
หรือก่อให้เกิดความทุกข์ยากแก่ประชาชน แต่ตรงกันข้าม ทรงดำรงพระองค์มั่นอยู่ใน ทศพิธราชธรรม ทรงใฝ่พระราชหฤทัยในการพระศาสนาและศีลธรรม ทรงปฏิบัติรักษาขนบประเพณีอันดีงามของชาติ และทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนในทุกด้าน ทั้งหมดนี้นับได้ว่าเป็นพระราชจริยาวัตรใน ทศพิธราชธรรมข้อสุดท้าย คือ อวิโรธนะ การไม่ปฏิบัติให้ผิดจากที่ถูกที่ควร ไม่ผิดจาดทำนองคลองธรรมก็คือปฏิบัติให้เป็นไปตามธรรมดังที่ได้ตรัสไว้ในพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” นั่นเองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ดังตัวอย่างที่ได้กล่าวมานี้อย่างสอดคล้องกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐบาลและประชาชน โดยมิได้ทรงยกหรือแยกพระองค์ออกไปเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากรัฐบาลและประชาชนโดยฐานที่ทรงเป็นพระองค์พระประมุขแห่งชาติ ก็ด้วยทรงปฏิบัติพระองค์ตามหลักของทศพิธราชธรรม
เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของปวงพสกนิกร
เช่นเดียวกับที่คนไทยทั้งปวงปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเองเพื่อความเจริญก้าวหน้าของชาติบ้านเมืองนั่นเอง ทรงมีพระราชสำนึกอยู่เสมอว่าคนไทยทุกคนไม่ว่าจะในฐานะเป็นองค์พระประมุขแห่งรัฐคณะรัฐบาล หรือประชาชนสามัญทั่วไป ต่างก็จะต้องใช้สติปัญญาความสามารถให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองตามควรแก่สถานภาพของตน ด้วยสำนึกในความเป็นชาติและโดยมีหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นหลักเป็นแกนแห่งการกระทำเสมอเหมือนกัน ไม่มียกเว้น
ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ นั้น จึงทรงปฏิบัติด้วยพระราชสำนึกและตามพระคุณธรรมมีทศพิธราชธรรม เป็นต้น เยี่ยงที่คนไทยทั้งหลายในทุกฐานะปฏิบัติกันอยู่โดยฐานที่เป็นคนไทย เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่
ตลอดมามิได้หยุดหย่อน นับแต่เริ่มรัชกาลเป็นต้นมาจนทุกวันนี้
ในปัจจุบันมีคณะกรรมการซึ่งมาจากหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลปฏิบัติสนองพระราชดำริทุกแห่ง
และมีคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เรียกสั้นว่า กปร.
มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้
ตามที่ได้กล่าวมาค่อนข้างจะยืดยาวนี้
เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพระราชจริยาวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน
ที่แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงปฏิบัติตามหลักทศพิธราชธรรมอย่างไรบ้าง และผลของการที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรมนั้นก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างไร ทั้งยังเป็นการชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า

สำหรับชาติไทยนั้น ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่จะแยกจากกันไม่ได้

เพราะ ชาติ ก็คือเอกภาพแห่งปวงชน ปวงชนจะมีเอกภาพได้ก็เพราะมี พระมหากษัตริย์ หรือผู้นำเป็นจุดรวมใจ พระมหากษัตริย์หรือผู้นำที่จะเป็นจุดรวมใจของปวงชนได้นั้นจะต้องมี พระศาสนา คือคุณธรรมเป็นที่ยึดมั่น เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นที่พึ่งได้ของปวงชน

พระศาสนาคือคุณธรรมจึงเท่ากับเป็นจุดศูนย์กลางของเอกภาพแห่งชาติ เพราะจะต้องเป็นหลักยึดสำหรับทุกคนในชาตินับแต่พระมหากษัตริย์ตลอดไปจนถึงประชาชนทั้งปวงโดยนัยนี้ แม้คำสอนเรื่องทศพิธราชธรรมก็เช่นเดียวกัน เป็นหลักธรรมที่ไม่เพียงแต่พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ควรปฏิบัติแม้รัฐบาล ข้าราชการ ประชาชนทั่วไป ก็ควรปฏิบัติ
เพราะแต่ละคนก็มีส่วนในการปกครองด้วยกันทั้งนั้น ต่างกันแต่มากน้อยไปตามฐานะ
เริ่มแต่ปกครองตน ปกครองสังคม ตลอดไปจนถึงปกครองประเทศ

แต่ที่ทรงยกพระราชาขึ้นมาแสดงเพราะว่า พระราชาหรือพระมหากษัตริย์ทรงเป็นธงของประเทศชาติ ทรงเป็นแบบอย่างของประชาชน และเป็นที่ปรากฏชัดกว่าบุคคลใด ๆ ในสังคมเดียวกัน

ฉะนั้น จึงทรงอยู่ในฐานะที่ต้องให้ความสำคัญและเน้นเป็นพิเศษ เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่คนทั่วไป ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทั้งหลายได้ทรงปฏิบัติมาแล้วเป็นอย่างดียอดเยี่ยม

ขอพระราชทานถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ

และถ้าจะมีข้อผิดพลาดบกพร่องไม่ถูกไม่ควรประการใด ขอพระราชทานอภัยและขออภัยท่านผู้ฟังทั่วไป

ขออวยพรแก่ทุกท่านที่มาร่วมฟังการบรรยาย และขอเชิญให้ร่วมอธิษฐานจิตถวายถวายพระพรให้ทรงพระเจริญ

ขออวยพร.



(ที่มา : “ทศพิธราชธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
: พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

http://board.palungjit.com/showthread.php?t=162943

วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ลักษณะนิสัย 6 ประการของผู้ประสบความสำเร็จ

ลักษณะนิสัย 6 ประการของผู้ประสบความสำเร็จ

มีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง
พวกเขามักใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่หรูหราฟุ่มเฟือยจนเกินความจำเป็น กินอยู่และแต่งกายอย่างประหยัดและเหมาะสมตามกาลเทศะ เมื่อมีสิ่งของหรือเครื่องใช้เกิดการชำรุด เหล่าบรรดาเศรษฐีทั้งหลายมักเลือกที่จะลองซ่อมแซมดูก่อน มากกว่าเลือกที่จะซื้อใหม่เพราะพวกเขารู้ถึงคุณค่าของเงิน จึงไม่ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย นอกจากนั้น คำว่า "ร่ำรวย" ในสายตาของบุคคลเหล่านี้หมายถึง การมีรายรับสูงและมีรายจ่ายต่ำ ในทางกลับกัน การมีรายได้สูงแต่มีการใช้จ่ายอย่างไม่จำกัด ประเภทหลังนี้ พวกเขาเรียกว่า การมีความเป็นอยู่แบบ "ยากจน"

ไม่เป็นพวกที่บ้างาน
พวกเขาให้ความสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือญาติมิตรมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะพวกเขาเชื่อว่า ความสบายใจ ความอบอุ่นภายในครอบครัว การมีสุขภาพที่ดี และการมีชีวิตส่วนตัวที่สมดุลกับชีวิตการทำงานจะเป็นรากฐานสำคัญของความสำเร็จในอนาคต ฉะนั้น พวกเขาจึงไม่ทำงานจนเกินตัว และเลือกทำเฉพาะชิ้นงานที่สำคัญและเกิดผลประโยชน์อย่างมากต่อองค์กร อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาเหล่านั้นจะเป็นคนที่ชอบเกี่ยงงานหรือเป็นคนที่เกียจคร้านแต่อย่างใด แต่มันหมายถึงการทำงานด้วยสติปัญญา ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ ๆ ไป และในความเป็นจริงแล้วพวกเขาเหล่านี้เป็นบุคคลที่ตั้งใจทำงานทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างเต็มที่ เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปตามแผนการที่วางไว้ นอกจากนั้น การที่พวกเขาพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างเพราะพวกเขาเชื่อว่า คนเหล่านั้นอาจจะกลายมาเป็นลูกค้าหรือเพื่อนร่วมงานที่ต้องช่วยเหลือเกื้อผมลกันในภายภาคหน้าก็เป็นได้

ไม่จำเป็นต้องร่ำรวยมาตั้งแต่เกิด
ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้มีเงินทองหรือมรดกมากมายจากพ่อแม่มาตั้งแต่เกิด แต่พวกเขาก็พยายามต่อสู้ สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง และก็ประสบความสำเร็จเสียด้วย เพราะผู้แต่งกล่าวว่า พวกเขาเหล่านั้นส่วนใหญ่มักจะร่ำรวยตั้งแต่ก่อนอายุ 45 ปีเสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดี การที่พวกเขาต้องลำบากลำบนมาตั้งแต่เด็กก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะตามใจลูก ๆ ของตนเองทุกอย่างเพื่อทดแทนสิ่งที่ตนเองขาดหายไปในวัยเด็ก แต่พวกเขากลับมีวิธีการสอนให้ลูกรู้จักอดทน รู้จักคุณค่าของเงิน มีความเป็นผู้ใหญ่ และกล้าที่จะเสี่ยง โดยเหล่าบรรดาเศรษฐีอเมริกันทั้งหลาย มักจะสอนให้ลูก ๆ รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ในช่วงปิดเทอม โดยการทำงานพิเศษเพื่อหาเงินด้วยตนเอง ฝึกความมีระเบียบวินัย และฝึกฝนทักษะในการพึ่งพาตนเอง

ไม่ได้มีสติปัญญามากนัก

เนื่องจากพวกเขาไม่ได้มีฐานะร่ำรวยมาตั้งแต่เกิดจึงจำเป็นต้องทำงานไปด้วยเรียนหนังสือไปด้วย ทำให้ผลการเรียนที่ออกมาไม่ค่อยสูงมากนัก ส่วนใหญ่แล้ว GPA ในระดับปริญญาตรีจะอยู่ประมาณ 2.9 เท่านั้น และด้วยความลำบากตรากตรำในการเรียน สิ่งนี้ทำให้เขารู้จักความอดทนและไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ แม้เมื่อเจออุปสรรคในการทำธุรกิจ เขาก็จะไม่ตื่นเต้นอะไรมากนัก เพราะพวกเขารู้ดีว่า อุปสรรคกับความสำเร็จเป็นของคู่กัน หากไม่มีอุปสรรคให้ข้ามผ่าน ชัยชนะที่ได้มาย่อมไม่อาจเรียกได้ว่า ความสำเร็จ นอกจากนั้น ช่วงเวลาในรั้วมหาวิทยาลัย บรรดาเศรษฐีเหล่านี้ยังชอบที่จะผูกสัมพันธ์กับคนหลาย ๆ ประเภท เพื่อศึกษาพฤติกรรมและแนวความคิดของบุคคลเหล่านั้น และเพราะการได้พบปะเจอะเจอคนมากมาย ทำให้พวกเขามีทักษะในการเลือกคบคน ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการคัดเลือกบุคลากรเข้ามาร่วมงานในองค์กรได้เป็นอย่างดี และสุดท้าย จากมุมมองของเหล่าเศรษฐีทั้งหลาย พวกเขาเชื่อว่า ชีวิตสี่ปีในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นช่วงเวลาแห่งการแสวงหาตนเอง เพื่อให้รู้ว่า ตนเองชอบหรือมีความถนัดในสิ่งใด และทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การที่เขารู้จักตนเองดีพอ ทำให้เขาสามารถเลือกทำงานที่ชอบและมีความถนัดได้ ซึ่งสองสิ่งนี้เองก็คือ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดนั่นเอง

มีคุณธรรมในจิตใจ

เขาเชื่อว่า ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่เงินตรา แต่อยู่ที่คุณธรรมความจริงใจที่มีให้แก่กัน ฉะนั้น พวกเขาจึงทำธุรกิจด้วยความซื่อตรง ซื่อสัตย์ และตรงไปตรงมา ไม่มีการหลอกลวง ทำให้ธุรกิจของพวกเขาเจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง นอกจากนั้น เขายังตระหนักดีว่า การหลอกลวงลูกค้าด้วยวิธีใดก็ตาม แม้ว่าจะได้ผลกำไรที่งอกเงย แต่มันจะเป็นเพียงในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เพราะเมื่อลูกค้าจับได้ เขาย่อมไม่กลับมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการของเราอีกอย่างแน่นอน ในทางกลับกัน การค้าขายอย่างตรงไปตรงมา แม้ว่าจะได้ผลกำไรอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่วิธีนี้สามารถซื้อใจลูกค้าได้ จึงทำให้บริษัทมีผลกำไรอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

ที่มา : http://www.thainn.com/blog.php?m=bunjerd&d=7730

วิธีสอนธรรมของ ‘พระบรมครู’



เดือนมกราคม นอกเหนือจากเป็นเดือนแรกของปีแล้ว ยังมีวันสำคัญเนื่องถึงกันอยู่สองวัน คือ วันเด็กแห่งชาติ และวันครูแห่งชาติ ดังนั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณของครูอันหาที่สุดมิได้ จึงจะขอนำวิธีการสอนธรรมของพระบรมครูของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย นั่นก็คือ พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงมีกลวิธีในการสอนธรรมะหลากหลายแบบที่สามารถทำให้พุทธบริษัทตรัสรู้ธรรมได้
วิธี การของพระองค์นั้นเริ่มจากการพิจารณาถึงอุปนิสัยใจคอ และจริตของผู้ที่ทรงสั่งสอนว่า มีพื้นฐานการเรียนรู้มากน้อยแค่ไหน ทรงหยั่งรู้ถึงการสั่งสมบารมีในชาติก่อนอย่างไร และธรรมะใดเหมาะแก่ อุปนิสัยของผู้ฟัง เป็นต้น

ทรงสอนคนโง่ที่สุดให้บรรลุธรรม
เรื่องมีอยู่ว่า พระจูฬปันถกเป็นผู้มีปัญญาทึบ พระมหาปันถก ผู้เป็นพี่ชายสอนให้ท่องคาถา แค่คาถาเดียวนานถึงสี่เดือนก็จำไม่ได้ จึงไล่ให้ออกไปนอกกุฎี พระจูฬปันถกน้อยใจร้องไห้คิดจะสึก พระพุทธเจ้าทรงทราบความ จึงตรัสเรียกมาปลอบโยน แล้วประทานผ้าขาวผืนหนึ่งให้ลูบคลำพร้อมบริกรรมว่า "ผ้าเช็ด ธุลี ผ้าเช็ดธุลี" นั่งคลำไปๆ ผ้าก็เศร้าหมอง จึงน้อมมา เปรียบเทียบกับตนว่า "สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ"
พระพุทธเจ้าทรงตักเตือนว่า "จูฬปันถก เธออย่าหมายแต่ว่าผ้านั้นอันธุลีย้อมให้เศร้าหมอง ยัง มีธุลีคือราคะที่มีอยู่ในใจของเธอ เธอจงชำระมันเสียด้วย" แล้วตรัสพระคาถาเป็นต้นว่า "ราคะเราเรียกว่า ธุลี ธุลีเรากล่าวว่าฝุ่นละอองก็หามิได้ คำว่าธุลีนี้เป็นชื่อแห่งราคะก็มี"
ในที่สุดแห่งการตรัสพระคาถาทั้งหลายเหล่านั้น พระจูฬปันถกก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา แตกฉานในพระไตรปิฎก การที่ท่านได้บรรลุธรรมอย่างง่ายนี้ เพราะในอดีตชาติท่านเกิดเป็นพระราชา ขณะที่เสด็จประทักษิณเลียบพระนคร พระเสโทหลั่งไหลจากพระนลาฏ พระองค์ทรงใช้ผ้าขาวบริสุทธิ์เช็ดพระเสโท ทำให้ผ้าเศร้าหมอง ทรงดำริว่า ผ้าขาวซับเหงื่อเพียงเล็กน้อยก็เศร้าหมองแล้ว สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงหนอ จึงเป็นปัจจัยให้ท่านบรรลุธรรมในชาตินี้
ขณะที่พระมหาปันถกไม่ทราบอัธยาศัย และบารมี ธรรมของพระจูฬปันถก ที่ได้สั่งสมมาแต่อดีตชาติ จึง ไม่สามารถสอนได้ แต่พระพุทธองค์ทรงสอนเพียงครู่ เดียว พระจูฬปันถกก็ตรัสรู้ธรรมได้อย่างน่าอัศจรรย์
ครูที่สอนนักเรียนแล้วนักเรียนไม่เข้าใจ โปรดอย่า คิดว่านักเรียนโง่ แต่ครูเองไม่ฉลาดในการสอนใช่หรือไม่?

การสอนโดยกุศโลบาย หนามยอกเอาหนามบ่ง
มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จทรงโปรดพระพุทธบิดา ณ กรุงกบิลพัสดุ์ พระองค์ได้พาพระนันทะ พระอนุชาต่างพระมารดา ผู้กำลังจะอภิเษกสมรสกับนางชนบทกัลยาณี เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา พระนันทะนั้นไม่ได้บวชเพราะศรัทธา วันๆจึงมัวแต่ คิดถึงคนรัก จนไม่เป็นอันทำความเพียรเพื่อบรรลุ ธรรม เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงพาพระนันทะไปสู่ดาวดึงส์เทวโลก ระหว่างทางเสด็จทรงชี้ให้พระนันทะดูนางลิงตัวหนึ่ง มีหู จมูก และหางขาดวิ่น นั่งอยู่บนตอไม้ที่ไฟไหม้ในท้องนาแห่งหนึ่ง เนื้อตัวมอม แมมไปด้วยเถ้าถ่าน และเมื่อมาถึงชั้นดาวดึงส์ทรงชี้ให้ดูนางอัปสร ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าแดงดุจเท้านกพิราบ
พระพุทธเจ้าตรัสถามพระนันทะว่า นางอัปสร ๕๐๐ กับนางชนบทกัลยาณี ใครงามกว่ากัน
พระนันทะกราบทูลว่า นางชนบทกัลยาณีก็เหมือน นางลิงบนตอไม้ ไม่ได้เสี้ยวหนึ่งของนางอัปสรเลย
พระพุทธองค์ตรัสต่อว่า "ถ้าเธอยินดีในนางอัปสร กว่านั้น จงประพฤติพรหมจรรย์ให้ถึงที่สุด แล้วเราจะ ประทานนางอัปสรแก่เธอ" พระนันทะดีใจมากรีบรับพระพุทธดำรัส
ต่อมาบรรดาภิกษุต่างพูดกันไปทั่วว่า พระนันทะประพฤติพรหมจรรย์เพราะต้องการนางอัปสร ไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์เพราะศรัทธา จึงทำให้ท่านเกิดความอาย และตั้งใจประพฤติธรรม พิจารณาจิตของตนว่า มีแต่ความรักไม่สิ้นสุด เห็นใครสวยก็รักเรื่อยไป เกิดสังเวชสลดใจ จึงได้บรรลุพระอรหัตผล
เรื่องนี้แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงใช้กุศโลบายอันแยบคาย ล่อให้พระนันทะประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อ บรรลุแล้วก็ไม่ต้องประทานรางวัลแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะพระนันทะไม่ทราบมาก่อนว่า พรหมจรรย์นั้นเป็นการตัดขาดจากความต้องการทางโลกิยวิสัย

ทรงสอนโดยใช้วิธีอุปมาอุปไมย
ทรงสอนด้วยวิธีอุปมาอุปไมย เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย และเข้าใจง่าย และมีผลต่อจิตของผู้ถูกสอน เช่น ตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย เธอเห็นสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง ในเวลาใกล้รุ่งราตรีหรือไม่?"
"ได้เห็นพระเจ้าข้า"
"สุนัขจิ้งจอกตัวนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย เวลามันเป็นโรคเรื้อน ซึ่งเกิดในฤดูหนาว เมื่อโรคเกิดขึ้นแล้วขนของมันหลุดร่วงไปสิ้น ตัวของมันซึ่งปราศจากขนนั้น เป็นแผลพุพองโดยรอบ แผลนั้นครั้นถูกลมโกรก ก็ทำให้กำเริบหนัก มันวิ่งไปบนบกก็ไม่รู้สึกยินดี หรือไปที่โคนไม้ ไปในที่แจ้ง ก็ไม่รู้สึกยินดี จะยืน เดิน นั่ง นอน ใดๆ ก็ถึงความวิบัติในที่นั้นๆ ฉันใด
ภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้น อันลาภ สักการ ชื่อเสียง ครอบงำรัดรึงตรึงจิตแล้ว ไปสู่เรือนว่างเปล่า ก็ไม่รู้สึกยินดี ไปที่โคนไม้ หรือไปในที่แจ้ง ก็ไม่รู้สึกยินดี จะยืน เดิน นั่ง นอน ในที่ใดๆ ก็ถึงความวิบัติในที่นั้นๆ เพราะเหตุนั้นแล พวกเธอจงสำเหนียก อย่าให้ลาภ สักการ ชื่อเสียง ครอบงำจิต ตั้งอยู่ได้"

ความเป็นพระบรมครู คือ การไม่ปิดบังความรู้แก่พระสาวก
ใน พระมหาปรินิพพานสูตรมีคำกราบบังคมทูลของพระอานนท์ตอนหนึ่งว่า เมื่อพระองค์ทรงพระประชวรนั้น ร่างกายจิตใจของข้าพระองค์นั้นระงมไปทุกทิศานุทิศย่อมไม่ปรากฏ แต่กระนั้นก็ยังอุ่นใจได้หน่อยหนึ่งว่าพระองค์ยังมิได้ตรัสเรื่องปรินิพพาน
พระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนท์ว่า "ดูกร อานนท์ สงฆ์จะหวังอะไรในตัวเราอีกเล่า ธรรมอันเราแสดงแล้ว ไม่มีภายนอกไม่มีภายใน ความซ่อนเร้นธรรม ย่อมไม่มีแก่เรา"
เพราะฉะนั้น ถ้าครูทั้งหลายสอนโดยไม่ปิดบังความรู้ ก็จะเป็นผลดีต่อเด็กไทยเราอย่างยิ่ง


ที่มา http://www.manager.co.th/