พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับ "ความรู้"

“...ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดถือเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้ความรู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔

วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2552

ครูผู้มีอุดมการณ์

ครูผู้มีอุดมการณ์

คอลัมน์ กระแสทรรศน์ สพฐ.

โดย ทรงวุฒิ มลิวัลย์



แรง บันดาลใจจากการเสียชีวิตของครูจูหลิง ปงกันมูล ได้ก่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนในการค้นหาครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณครู ครูที่เสียสละเพื่อเด็กและการศึกษาไทย โดยกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะมีการคัดเลือกให้เหลือภาคละ 1 คน รวม 4 คน และรับรางวัลจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในวันครูที่ 16 มกราคม 2552

การคัดเลือกครูผู้มี อุดมการณ์เพื่อเฟ้นหาตัวจริงเสียงจริง เริ่มจากให้แต่ละโรงเรียนเสนอชื่อพร้อมผลงานไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การ ศึกษา (สพท.) เพื่อให้ สพท.คัดเลือกตัวแทนเข้ามาคัดเลือกระดับภาคให้เหลือภาคละ 1 คน ขณะเดียวกันหน่วยงานต่างๆ ที่มีครูอยู่ในสังกัดก็คัดเลือกครูในสังกัดตัวเองส่งมาคัดเลือกเป็นตัวแทน ระดับภาคได้ด้วยเช่นเดียวกัน

คณะกรรมการซึ่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ หลายสาขา หลายหน่วยงาน ได้ทำหน้าที่อย่างยากลำบาก เพราะมีการส่งเข้าคัดเลือกจำนวนมากกว่าจะคัดเลือกให้เหลือเพียงภาคละ 1 คน แสดงให้เห็นว่ายังมีครูดี ครูที่มีอุดมการณ์ เสียสละเพื่อเด็กและสังคมได้อีกมาก ซึ่งครูเหล่านี้คือที่พึ่งที่หวังของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

เมื่อทราบผลจากการคัดเลือกไม่ทำให้ผิดหวังจริงๆ เพราะชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์เป็นที่กล่าวขานและขจรขจายอยู่ในสังคมโดยรวมอยู่แล้ว

นาย กิจจา ชูประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนปทุมวิไล อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ครูผู้ผ่านประสบการณ์ทั้งชีวิตครูในป่าและครูในเมือง ต้องนำพาเด็กให้พ้นจากภัยทั้งปวง ทั้งขณะอยู่ในป่าและในเมือง ต่อสู้กับธุรกิจผิดกฎหมายรอบโรงเรียนอย่างไม่สะทกสะท้าน บริหารงานแบบพ่อปกครองลูก จนได้รับการเรียกขานจากนักเรียนว่าพ่อใหญ่ ผู้มุ่งหวังให้เด็กเป็นคนดีของครอบครัว คนดีของสังคม และอยู่ในสังคมโลกได้อย่างมีความสุข

นายสำเร็จ ไกรพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่จ๊าง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ครูผู้ต่อสู้ปัญหาและอุปสรรคจากวัฒนธรรมที่แตกต่างจากใต้สู่ภาคเหนือ กว่าจะสำเร็จก็ใช้เวลากว่า 20 ปี ที่สร้างโรงเรียนจากไม่มีเด็กมาเรียน อาคารเก่าๆ สู่สิ่งแปลกใหม่ที่ใครเห็นเป็นต้องตะลึงกับความมุมานะ ความเพียรพยายาม จนเป็นโรงเรียนขนาดเล็กต้นแบบผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงในปัจจุบัน

ดาบ ตำรวจ นิยม มานะสาร ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ตำรวจผู้มีหัวใจเป็นครูและไม่ยอมให้ความเสี่ยงมาเป็นปัญหาและอุปสรรคในการทำ งาน มุ่งสร้างเด็กด้อยโอกาสให้มีโอกาสและได้รับโอกาสอย่างไม่ย่อท้อ

นาง ศุภวรรณ แซ่ลู่ ครูชำนาญการโรงเรียนบ้านเบตงสุภาพอนุสรณ์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ครูผู้รอดชีวิตจากเหตุร้ายภาคใต้ แต่มีไฟและอุดมการณ์ ผู้ไม่ยอมย้ายจากพื้นที่เสี่ยงภัย เสี่ยงชีวิต ทั้งต่อตัวเองและครอบครัว ทั้งที่บุตรสาวเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตาแล้วก็ตาม เพราะสิ่งแรกที่สามารถสื่อต่อสาธารณชนได้ คือลายมือที่เขียนว่าไม่ย้ายนะ ไม่ย้ายนะ

ขอให้คุณครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณของความเป็นครูทั้ง 4 ท่าน ได้เป็นแรงบันดาลใจให้คุณครูทุกท่านมุ่งมั่นบากบั่นสู่รางวัลเกียรติยศสูง สุดของความเป็นครู ตามคำขวัญวันครูปี 2552 ที่ว่า "ครูสร้างคนดี เป็นศรีแผ่นดิน ทั่วถิ่นศรัทธา บูชาคุณครู"

หน้า 7

วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11271 มติชนรายวัน

9 ครูดีเด่นปี 2551

หมายเหตุ - เมื่อวันครูที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานงานวันครู ณ หอประชุมคุรุสภา กรุงเทพฯ พร้อมทั้งได้มอบรางวัลแก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษารับรางวัลคุรุสภา หรือครูดีเด่น ประจำปี 2551 จำนวน 9 คน ประกอบด้วย ประเภทครูผู้ปฏิบัติการสอน นางจุรี โก้สกุล โรงเรียนภูเก็ตปัญญานุกูล จ.ภูเก็ต นายจตุรพัฒน์ วิไลรัตน์ โรงเรียนวัดสันติธรรม จ.นครสวรรค์ นายพลศักดิ์ เผ่ากันทรากร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ นายไพบูลย์ กฤษณจักราวัฒน์ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 กรุงเทพฯ และนายเสกสรร กาวินชัย โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา จ.ลำปาง ประเภทผู้บริหารสถานศึกษา นายธำรงค์ น่วมศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์ และภราดาประภาส ศรีเจริญ อธิการโรงเรียนลาซานจันบุรี (มาดาพิทักษ์) จ.จันทบุรี ประเภทผู้บริหารการศึกษา ดร.สุรัตน์ ดวงชาทม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามหาสารคาม เขต 1 และ ประเภทบุคลากรทางการศึกษาอื่น นายเสริม คงประเสริฐ ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 1

"มติชน" จึงขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับครูดีเด่นทั้ง 9 คนนี้

@ นางจุรี โก้สกุล โรงเรียนภูเก็ตปัญญานุกูล

คุณ ครูจุรี วัย 51 ปี เป็นครูที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ได้เป็นครูมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 ได้ทำงานวิจัยในชั้นเรียนเรื่องการแก้ปัญหาการออกเสียงพยัญชนะ ต สำหรับผู้พิการที่บกพร่องทางการได้ยิน ระดับชั้น ป.4 ผลงานวิจัยนี้ได้นำเผยแพร่ต่อโรงเรียน ผู้ปกครองและบุคคลทั่วไป เป็นสื่อนวัตกรรมทางการศึกษาที่เป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนที่มีปัญหาทางการ ได้ยิน นอกจากนี้ ยังได้จัดทำโปรแกมประดิษฐ์พจนานุกรมภาษามือ ช่วยสื่อสารคนพิการทางหู โดยเป็นสื่อที่สามารถติดต่อออนไลน์ได้ทางอินเตอร์เน็ต จากความรู้ ความสามารถและความมุ่งมั่น ส่งผลให้ครูจุรีมีผลงานเป็นที่ยอมรับ และได้รับรางวัลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง 5 ปีซ้อน เช่น รางวัล "ครูเกียรติยศ" รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และรางวัลครูการศึกษาพิเศษดีเด่น

@ นายจตุรพัฒน์ วิไลรัตน์ โรงเรียนวัดสันติธรรม

ครู จตุรพัฒน์ อายุ 53 ปี ตลอดระยะเวลาที่ทำการสอนมามากกว่า 33 ปี ได้เป็นแบบอย่างที่ดี ได้มุ่งเน้นการเรียนรู้โดยผู้เรียนเป็นสำคัญ และเนื่องจากนักเรียนที่สอนเป็นนักเรียนที่ด้อยโอกาส มีสติปัญญาในระดับปากลางถึงอ่อนและอ่อนมาก จึงได้พยายามจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยให้โอกาสนักเรียนในการพัฒนารูปแบบ การเรียนรู้ตามศักยภาพของตนเอง จากการปฏิบัติงานที่เสียสละและทุ่มเทส่งผลให้ครูจตุรพัฒน์ได้รับโล่รางวัล เกียรติยศ/ครูดีเด่น/รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ จนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 45 รางวัล อาทิ ครูผู้สอนคณิตศาสตร์ดีเด่นระดับประเทศ ปี พ.ศ.2528, 2533 รางวัลผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและ จรรยาบรรณ สร้างคุณประโยชน์ในด้านการศึกษาให้แก่ประเทศชาติ ของคุรุสภา ในปี พ.ศ.2550 ฯลฯ

@ นายพลศักดิ์ เผ่ากันทรากร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์

คุณ ครูพลศักดิ์ วัย 52 ปี เป็นครูที่มีความริเริ่มสร้างสรรในวิชาชีพเป็นอย่างสูง นับตั้งแต่เริ่มเข้ารับการครูได้นำความรู้ทางด้านพืชไร่ที่ได้ศึกษามาฝึกสอน ถ่ายทอดให้กับนักศึกษา จนนักศึกษาได้รับรางวัลชนะเลิศลำดับที่ 1 และได้นำความรู้เกี่ยวกับการขยายพันธุ์พืชมาใช้ให้นักศึกษาหารายได้ระหว่าง เรียน ทำให้นักศึกษามีรายได้แบ่งเบาภาระครอบครัว นอกจากนี้ ยังได้คิดค้นหานวัตกรรมการสอนที่สามารถช่วยให้นักศึกษาเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งหาเทคนิคใหม่ๆ เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ในวิชาที่ได้ศึกษา ไม่ว่าจะเป็นวิชาโครงงานขยายพันธุ์พืช หลักพันธุศาสตร์ พฤกษศาสตร์ การปรับปรุงพันธุ์พืช และการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานชุดปลูกพันธุ์พืชโดยไม่ใช้ดินแบบไม้ไผ่ ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาค ซึ่งอุปกรณ์ชุดนี้ได้นำไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรเพื่อใช้ปลูกผักปลอดสารพิษ จนเกษตรกรสามารถนำไปสร้างเองเพื่อใช้ประกอบอาชีพแบบเกษตรพอเพียง

@ นายไพบูลย์ กฤษณจักราวัฒน์ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2

ครู ไพบูลย์ อายุ 52 ปี ได้พัฒนาความรู้ของตนเองในรายวิชาที่สอน โดยเฉพาะวิชากระบี่กระบอง และมวยไทย ได้ก่อตั้งชมรมกระบี่กระบองมวยไทย บดินทรเดชา 2 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539-ปัจจุบัน เพื่อเพิ่มพูนพัฒนาทักษะการเรียนการสอน และสร้างจิตสำนึกให้แก่นักเรียนได้ตระหนักถึงคุณค่ากีฬาประจำชาติไทย และยังได้ร่วมกับนักเรียนในชมรมกระบี่กระบองและมวยไทย บดินทรเดชา 2 ให้บริการสังคม โดยเป็นวิทยากรสาธิตกีฬากระบี่กระบองและมวยไทยให้แก่ชุมชนและมูลนิธิการ ศึกษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-นานาชาติ (A F S X ประเทศไทย) เป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยให้ชาวต่างชาติได้ชื่นชม และได้ร่วมกับนักเรียนมูลนิธิ YOUNG EXCHANG SERVICE (Y E S) ซึ่งเป็นนักเรียนทุนจากแคนาดา ฝึกซ้อมจนสามารถออกแสดงตามงานต่างๆ ได้ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์พัฒนาการเรียนการสอนให้มี ประสิทธิภาพอยู่เสมอ โดยพัฒนาสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่สอน เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ ดีวีดี และเว็บไซต์ จนได้รับการยกย่องและได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย เช่น โล่เกียรติคุณ "บุคคลที่ทำคุณประโยชน์เยาวชน สาขากีฬาและนันทนาการ" ประจำปี 2550 ของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ

@ นายเสกสรร กาวินชัย โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา

ครู เสกสรร วัย 42 ปี ตั้งแต่เริ่มเป็นครูได้เริ่มศึกษาเรียนรู้เทคนิควิธีการเรียนการสอน ศึกษาสภาพข้อมูลท้องถิ่น นักเรียน บริบทของโรงเรียนและสภาพสังคมปัจจุบัน ทดลองออกแบบนวัตกรรม เรื่อง "ชิ้นงานฝึกทักษะจากเศษไม้" โดยมีการพัฒนาปรับปรุงให้มีความเหมาะสมกับสภาพความต้องการของโรงเรียน ชุมชนมากยิ่งขึ้น ทำให้นักเรียนสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น มียอดการจำหน่ายผลผลิตเพิ่มขึ้น และได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น นวัตกรรมชิ้นนี้ได้พัฒนาสร้างสรรค์ให้ก้าวสู่เวทีการประกวดระดับชาติ จนได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย รวมทั้งผลงานของนักเรียนได้รับการยอมรับเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 4 ดาว จากความรู้ ความสามารถของคุณครูเสกสรรได้รับการยกย่องเกียรติคุณจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ ได้รับพระราชทานโล่เป็นบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเยาวชน ประจำปี 2550 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ de chevalier แห่งราชอาณาจักรเบลเยียม ในฐานะนักประดิษฐ์คิดค้น 1 ใน 5 คนไทย ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ปี พ.ศ.2548 และได้รับรางวัลเหรียญทอง Brussels Eureka 2005 นวัตกรรมทางการศึกษา ในการจัดงาน World Exhibition กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม

@ นายธำรงค์ น่วมศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์

นาย ธำรงค์ อายุ 51 ปี เป็นผู้บริหารมืออาชีพ ใช้ความรู้ ความสามารถพัฒนาโรงเรียนให้มีเจริญก้าวหน้าจนได้รับรางวัลติดต่อกันหลายปี เป็นผู้ที่นำโทรทัศน์และจานดาวเทียมมาใช้ในการจัดการศึกษา นำเทคโนโลยีมาใช้ในการสอนนาฏศิลป์ และส่งเสริมให้ครูและนักเรียนแสดงออก จนได้รับรางวัลโรงเรียนเอกลักษณ์ดีเด่น เป็นผู้ริเริ่มโครงการพัฒนาความสามารถพิเศษ 7 ศูนย์ อันประกอบด้วย ศูนย์พัฒนาความสามารถด้านคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ดนตรี นาฏศิลป์ ศิลปะ จิตวิทยาและแนะแนว และทักษะการคิดระดับสูง มีการนำระบบคุณธรรมมาใช้ในการบริหารงาน และพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของครู จนโรงเรียนได้รับรางวัลสถานศึกษาดีเด่นด้านการปลูกฝังพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ของสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เขตการศึกษา 7 และยังได้รับการยอมรับทั่วไป ทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น

@ ภราดาประภาส ศรีเจริญ อธิการโรงเรียนลาซานจันบุรี (มาดาพิทักษ์)

ภราดา ประภาส อายุ 50 ปี เป็นผู้รับใบอนุญาต ผู้จัดการและอธิการโรงเรีนยลาซานจันบุรี (มาดาพิทักษ์) เป็นผู้บริหารที่มีระเบียบวินัยในตนเอง บริหารโรงเรียนอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนการทำงาน และพยายามแสวงหาความรู้ด้วยตนเองอยู่เสมอ เพื่อนำความรู้มาขยายผลให้แก่คณะครูในโรงเรียน และเพื่อนครูในชุมชนนำไปปฏิบัติได้ และยังเป็นผู้นำด้านการจัดกิจกรรมต่างๆ บริหารงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาล เปิดโอกาสให้บุคลากรในโรงเรียนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการตัดสินใจ ดำเนินงานต่างๆ ของโรงเรียน ส่งผลให้ในปีการศึกษา 2550 โรงเรียนได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตามแนว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น ในงานมหกรรมเศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ฯลฯ

@ ดร.สุรัตน์ ดวงชาทม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามหาสารคาม เขต 1

ดร. สุรัตน์ อายุ 53 ปี เป็นผู้บริหารการศึกษาที่พัฒนาตนเองด้านวิชาชีพอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยขวนขวายหาความรู้ให้กับตนเองอยู่เสมอ ได้สนับสนุนให้สถานศึกษาพัฒนาเทคนิควิธีการสอนใหม่ๆ ให้กับครู ผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ในการเป็นผู้บริหารการศึกษา คือ ดร.สุรัตน์สามารถพัฒนาให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามหาสารคาม เขต 1 ได้รับการคัดเลือกจาก สพฐ.ให้เป็นเขตนำร่องในการใช้ระบบควบคุมเชิงประจักษ์ (Visual Control) ในการดำเนินงานตามคำรับรองปฏิบัติราชการ และนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการของหน่วยงานทางการศึกษาในสังกัด ทุกระดับ โดยมุ่งโรงเรียนเป็นฐาน (SMB : School Based Management) และโครงการสำนักงานอัตโนมัติ (One Stop Service) และใช้ระบบ E-Office ในงานธุรการ ทำให้ลดการรับส่งเอกสารและลดการเดินทางระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่กับ โรงเรียน ดร.สุรัตน์ยังได้รับรางวัลเป็นจำนวนมาก อาทิ โล่เกียรติคุณผู้บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานดีเด่น และเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ "คุรุสดุดี" จากคุรุสภา นักบริหารดีเด่น สาขานักบริหาร-พัฒนาและส่งเสริมการศึกษา ฯลฯ

@ นายเสริม คงประเสริฐ ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 1

นาย เสริม วัย 58 ปี ได้คิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการปฏิบัติวิชาชีพ พัฒนานวัตกรรมสร้าง "งานเกษตรสมุนไพรตามแนวพระราชดำริ" โดยบูรณาการ "คุณธรรมจริยธรรมนำความรู้" สู่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้แหล่งการเรียนรู้พัฒนาคุณภาพ "การจัดการเรียนรู้สร้างโรงเรียนเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้" ได้พัฒนารูปแบบการนิเทศก์ที่มีผลต่อการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนใน สถานการณ์วิกฤต โดยใช้กระบวนการนิเทศแบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม "สคลิบแดน โมเดล" (Networks & Participation "SCLIPDAN Model") จนได้รับการยกย่องเป็นศึกษานิเทศก์ดีเด่นระดับจังหวัด ระดับชาติ และระดับประเทศ ในปี พ.ศ.2533 และได้เป็นศึกษานิเทศก์เกียรติยศ ในปี 2546

หน้า 7

วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11271 มติชนรายวัน

วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2552

การจัดการความรู้คืออะไร อย่างไร และทำไม

การจัดการความรู้คืออะไร อย่างไร และทำไม

สุภาคย์ อินทองคง ศูนย์เรียนรู้ชุมชนภาคใต้ (ศรช.)

ปัจจุบันนี้มีกระแสสังคมกระแสหนึ่งที่เริ่มจะพูดถึงกันมากขึ้น คือ กระแสเรื่อง การจัดการความรู้ (Knowledge Management KM.) ใครเป็นผู้ปลุกกระแสนี้ขึ้นมาเมื่อใด ที่ไหน ไม่มีข้อมูลในมือ แต่กล่าวเฉพาะในเมืองไทย คนที่พูดถึงเรื่องนี้คนหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์พานิช อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการวิจัย (สกว.) และปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันการส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

อีกกระแสความคิดหนึ่ง และก็ดูจะเกิดขึ้นมาพร้อมกัน คือ กระแสความคิดเรื่อง การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ หรือ สังคมแห่งปัญญา เพราะเชื่อกันว่าโลกในศตวรรษที่ 21 (แห่งคริสต์ศตวรรษ) นี้จะเป็นช่วงเวลาที่สังคมโลกจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมแบบนั้น ซึ่งว่ากันว่า เป็นช่วงเวลาที่ต่อจากสังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร ก็จะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมข่าวสารนั้นเกิดจากฐานทางเทคโนโลยี การสื่อสารที่ก้าวไกลจนก่อให้เกิดภาวะโลกไร้พรมแดน การจะอยู่ในโลกไร้พรมแดนได้ ผู้คนในสังคมต้องใฝ่รู้ มิฉะนั้น จะสู้เขา ที่รู้กว่า คือ รู้ดีกว่า รู้มากกว่าไม่ได้ จึงจำเป็นจะต้องลุกขึ้นมาแสวงหาความรู้ จึงจะสู้เขาได้ นำเขาได้

อันที่จริง การแสวงหาความรู้นั้น มีความจำเป็นต่อมนุษย์ทุกคน และทุกกลุ่มมาตลอดเวลา แต่ที่มากระตุกกันตอนนี้ เพราะเกิดยุคข้อมูลข่าวสารที่ไร้พรมแดน การขนส่งไร้พรมแดน เกิดการค้าเสรีระหว่างประเทศ กลุ่มประเทศ การไหลเวียนของข่าวสารของเงินตรา อะไรต่ออะไร ไหลได้เร็วขึ้น และเร็วมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ การเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ก็จะเร็วมากโดยเฉพาะด้านธุรกิจการค้าจึงจำเป็นต้องติดตามข้อมูลข่าวสารการ เปลี่ยนแปลงนั้น ๆ อยู่ตลอดเวลาและที่ลึกลงไปกว่านั้น สนามการแข่งขันก็กว้างขึ้น ใหญ่ขึ้น ใครรู้ได้ รู้ดี รู้ทัน รู้ทั่ว รู้เท่า ก็มีโอกาสชนะในสนามแข่งขันมากขึ้น

จากภาวะดังกล่าวนี้ จึงผลักดันให้เกิดกระแสที่เรียกว่า สังคมแห่งการเรียนรู้ และกระแสแห่งการจัดการความรู้ เกิดขึ้น และกล่าวถึงกันมากขึ้นในวงการวิชาการและวงการชุมชนคนชอบการเรียนรู้

อย่างเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2548 ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปพูดคุยเรื่องสัจจะวันละ 1 บาท ร่วมเวทีกับ ดร. ครูชบ ยอดแก้ว เจ้าของความคิดเรื่องนี้ ก็ต้องพูดถึง 2 เรื่องนี้ด้วย คือ การจัดการความรู้และสังคมแห่งการเรียนรู้ เพราะเรื่องการจัดตั้งกองทุนสัจจะวันละ 1 บาท ก็ต้องยกเรื่องนี้มาพูดถึง เช่นกัน เพราะเจตนารมณ์ส่วนลึกของ กองทุนสัจจะวันละ 1 บาท คือ การใช้เงินเป็นเครื่องมือพัฒนาคน และเมื่อพูดถึงการพัฒนาคนก็หนีไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงความรู้ หรือปัญญา เพราะคนจะเจริญได้ ดำรงตนอยู่ได้ ต้องมีความรู้เป็นปัจจัยหลัก จะกิน จะดื่ม จะเดิน จะนั่ง จะนอน เป็นต้น ก็ต้องอาศัยความรู้เป็นฐานทั้งสิ้น มิฉะนั้น เราจะทำอะไรไม่ถูก และทำอะไรไม่ได้เลย รู้ถูก รู้ดี รู้ลึก รู้แท้ รู้ทั่ว เป็นต้น รู้ในเรื่องใดเป็นพิเศษ ก็จะมีประโยชน์มากเป็นพิเศษ ความรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ในแง่มุมของทรัพย์สิน ความรู้เราเรียกว่า เป็นทรัพย์สินทางปัญญา เป็นของดี มีทั้งคุณค่า และมูลค่า ในหลักคำสอนทางศาสนา เช่น พุทธศาสนามองว่า ปัญญา คือ ทรัพย์อันประเสริฐ เป็นหนึ่งในอริยทรัพย์ 7 ประการ คือ ศรัทธา ความเชื่อในเหตุผล ศีล การสำรวม ระวังกายวาจา หิริ การละอายต่อบาป โอตัปปะ ความแกรงกลัวต่อบาป พาหุสัจจะ ความเป็นพหุสูตร จาคะ ความ เสียสละและปัญญา ความรู้แจ้ง ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์ที่เราต้องแสวงหามาไว้กับตน หรือทำให้เกิดขึ้นในตนในหลักการศึกษาของพุทธก็เสนอว่า จะต้องเข้าสู่ระบบปัญญา คือ ระบบพัฒนาตนให้เกิดความรู้จัก รู้จำ รู้จริง และรู้แจ้ง

จะเห็นว่า เรื่องความรู้ หรือปัญญานี้ มีการให้ความสำคัญมานานแล้ว มาถึงยุคนี้ก็มีการมองเห็นสาระส่วนนี้ พูดถึงเรื่องนี้กันมากขึ้น ทั้งในวงการศึกษา วงนักวิชาการในระดับอุดมการณ์ศึกษาถึงประถม และระดับปัญญาชนถึงคนธรรมดาในชุมชนที่สิ่งต่าง ๆ เข้าถึง ก็จะได้รับรู้เรื่องนี้ ถามว่า การจัดการความรู้ คืออะไร จะจัดการกันอย่างไร และจะจัดการไปทำไม?

คำตอบ คำถามสุดท้ายที่ว่า จะจัดการไปทำไม ดูเหมือนจะไม่ต้องขยายความแล้ว เพราะได้อธิบายไปแล้วในตอนต้น คือ เพราะความรู้เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ มนุษย์อยู่รอดปลอดภัยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ เจริญก้าวหน้าได้ อาศัยความรู้ทั้งนั้น ส่วนคำถามแรกที่ว่า การจัดการความรู้ คืออะไร? นั้น อาจตอบได้หลายแนว เช่น คำตอบในเชิงวิชาการ หรือ เชิงความรู้ ก็อาจบอกว่า การจัดการความรู้ คือ กระบวนการที่มนุษย์ได้เพียรพยายามตอบคำถามตามข้อสงสัยของตนจนรู้ว่าอะไรเป็น อะไร แล้วนำความรู้นั้น ๆ มาจัดเก็บและนำออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิตของตน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม จะเห็นได้ว่า ถ้าดูที่โครงสร้างของคำตอบนี้ จะมีแกนที่เป็นส่วนประกอบหลักอยู่ 4 ส่วน คือ หนึ่ง ผู้สร้างความรู้ คือ คน สอง องค์ความรู้ คือ สิ่งที่มนุษย์ค้นพบ หรือสร้างขึ้น สาม การนำความรู้นั้นมาใช้โดยตรงต่อชีวิต สี่การนำมาประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป คือ เทคโนโลยีต่าง ๆ


เมื่อดูตามสาระนี้ก็อาจเขียนเป็นโครงสร้างให้เห็นเป็นผังมโนทัศน์ได้ ดังนี้

คน = ผู้สร้าง / ผู้ผลิตความรู้ องค์ความรู้ = ผลการสร้าง / ผลผลิต การใช้ความรู้ 1 = การบริโภคผลผลิตโดยตรง การใช้ความรู้ 2 = การนำความรู้เพื่อผลิตสิ่งอื่นต่อ (เทคโนโลยี) คน = ผู้บริโภคความรู้ / ผลผลิต

จะเห็นได้ว่า การจัดการความรู้นั้น เป็นกระบวนการเหมือนกับการจัดการเครื่องอุปโภคบริโภค เช่น การจัดการโรงงานอุตสาหกรรม จัดการองค์กรผลิตสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งว่ากันว่า ต้องมีองค์ประกอบ 4 คือ คน (Man) เงิน (Money) วัตถุดิบ (Material) และการจัดการ (Management) ตัวหลังสุด คือ การจัดการนั้นแหละเป็นตัวที่บ่งชี้การจัดการความรู้ คือ ต้องมีความรู้ในเรื่องการจัดการคน เงิน ของหรืองาน จึงจะบริหารจัดการ กิจกรรมนั้น ๆ ลุล่วงไปได้ด้วยดี ทีนี้มาดูต่อไปอีกนิดว่าการจัดการความรู้นั้น เขาทำกันอย่างไร เมื่อดูสาระตามนิยามข้างต้น ก็พอจะเห็นภาพได้ว่า ที่ว่าการจัดการความรู้นั้น ทำอย่างไร

จัดการโดยปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างน้อย 4 ขั้น ดังนี้

1.การแสวงหาความรู้ หรือสร้างความรู้ หมายถึงการหยิบฉวย หรือรับมาจากแหล่งความรู้ที่มีผู้ค้นหา หรือสร้างไว้ให้แล้ว เช่น ความรู้ในตำรา หรือความรู้จากผู้รู้ ส่วนการสร้างความรู้นั้น หมายถึง การลงมือสืบค้น หรือทดลองปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อดูว่าอะไรเป็นอะไร อย่างที่เรียกกันว่า การค้นคว้าวิจัย หรือ การปฏิบัติการทดลอง จนได้ข้อสรุปว่าอะไร เป็นเหตุ อะไรเป็นผล เป็นต้น ขั้นนี้อาจเรียกว่า การจัดการให้เกิด

2.การจัดเก็บองค์ความรู้แสวงหาและค้นคว้า วิจัย มาได้ให้เป็นชุดเป็นระบบ เป็นระเบียบให้สะดวกเก็บสะดวกใช้ ให้เป็นหมวดหมู่ ไม่ยุ่งยากต่อการเก็บรักษาและใช้สอย ใครต้องการบริโภค หรือใช้ก็สามารถ ค้นคว้าหยิบฉวยไปใช้งานได้ ขั้นนี้อาจเรียกว่า การจัดการให้เก็บ

3.การเลือกใช้องค์ความรู้ที่แสวงหาหรือสร้างได้ และจัดเก็บไว้นั้น ให้เหมาะสมกับเรื่องกับกาละและเทศะ กับบุคคลกับชุมชน กับสถานการณ์กับปรากฏการณ์ เป็นต้น จนบรรลุผลตามที่คาดหวังได้ดี ขั้นนี้อาจเรียกว่า การจัดการให้ก่อ

4.การนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ และเลือกสรรคัดสรรค์ดีแล้วนั้น มาเป็นเครื่องมือในการสร้างสิ่งใหม่ ที่เป็นประโยชน์และกลุ่มชุมชนและเพื่อนมนุษย์ที่กว้างขวางยิ่งขึ้น จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า นวัตกรรม คือ ของใหม่ ๆ ขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการขยายอินทรีย์ เป็นต้น ของมนุษย์ได้มากขึ้น เช่น การผลิตแว่นตา รถยนต์ เป็นต้น ขั้นนี้อาจเรียกว่า การจัดการให้ก้าว

เมื่อนำเอาขั้นตอน ทั้ง 4 ขั้นมาต่อกัน ก็จะเห็นภาพชัดเจนว่า การจัดการความรู้นั้น ทำอย่างไร คำตอบคือ การจัดการให้เกิด การจัดการให้เก็บ การจัดการให้ก่อ และการจัดการให้ก้าว แต่ละขั้นก็ต้อง จัดการ และต้องจัดการให้ครบทั้ง 4 ขั้น จึงจะก่อประโยชน์สูงสุด และกว้างขวางได้ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ ชุมชนแห่งปัญญา จะเกิดได้ ถ้านำกลวิธีการจัดการความรู้ที่กล่าวข้างต้นมาใช้ ปัจเจกบุคคลก็เป็นบุคคลเรียนรู้และเป็นปัญญาชนได้ ถ้าได้นำเอาวิธีการจัดการความรู้ทั้ง 4 ขั้นมาใช้ กลุ่มสัจจะทุกกลุ่มก็จะเจริญได้ สมาชิกทุกคนก็เจริญได้ ถ้านำเอาวิธีการจัดการความรู้ทั้ง 4 ขั้นมาใช้

สรุป
การจัดการ ความรู้ มีผู้บอก เป็นขอบนอกของใน เราไม่สน เรารู้จัก ความรู้ ทุกผู้คน ช่วยพาตน รอดได้ สบายทรวง ตั้งแต่เล็ก จนโต เราโง่เขลา เรื่องหนักเบา เราเรียนได้ ไม่ต้องห่วง จนรู้จัก รู้จำ นำกลลวง ได้ลุล่วง พ้นทุกข์ สุขกายใจ มาวันนี้ ผู้รู้ เขาชูเชิด เขามาเปิด ให้เห็น เป็นเงื่อนไข ว่าความรู้ ต้องจัดการ ให้ก้าวไกล ทำอย่างไร จะรู้ได้ คลายกังวล เมื่อคิดดู รู้ชัด ไม่ขัดจิต คงไม่ผิด ความจริง สิ่งเป็นผล การจัดการ ความรู้ ของผู้คน ต้องอยู่บน สี่ ก (กอ) ควรพอใจ หนึ่ง ก เกิด คือ จัดการ ประสานกิจ ประสานคิด ประสานทำ นำสดใส จนรู้จัก รู้จริง สิ่งใดใด ใคร เป็นใคร รู้แจ้ง ด้วยแรงเรา สอง ก เก็บ เหน็บกิจ พินิจนึก รู้ตื้นลึก เก็บไว้ ไม่อับเฉา เป็นกองทุน ทางปัญญา หาเครื่องเครา เป็นสำเภา ช่วยเดินทาง สว่างใจ สาม ก ก่อ ต่อทาง สร้างความคิด ช่วยเสริมกิจ เสริมทำ นำสดใส ให้คิดถูก ทำถูก ปลูกเนื้อใน ชีพปลอดภัย เพราะรู้ ชูกำลัง สี่ ก ก้าว สาวเรือง รุ่งเรืองกิจ รู้พินิจ รู้แนวฝึก ที่นึกหวัง สร้างสิ่งใหม่ ใจคิด ติดพลัง ความรู้ตั้ง ต่อยอด ตลอดเอย


สุภาคย์ อินทองคง 6 กันยายน 2550
http://www.southhpp.org/paper/1677