พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับ "ความรู้"

“...ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดถือเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้ความรู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔

วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2552

9 ครูดีเด่นปี 2551

หมายเหตุ - เมื่อวันครูที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานงานวันครู ณ หอประชุมคุรุสภา กรุงเทพฯ พร้อมทั้งได้มอบรางวัลแก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษารับรางวัลคุรุสภา หรือครูดีเด่น ประจำปี 2551 จำนวน 9 คน ประกอบด้วย ประเภทครูผู้ปฏิบัติการสอน นางจุรี โก้สกุล โรงเรียนภูเก็ตปัญญานุกูล จ.ภูเก็ต นายจตุรพัฒน์ วิไลรัตน์ โรงเรียนวัดสันติธรรม จ.นครสวรรค์ นายพลศักดิ์ เผ่ากันทรากร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ นายไพบูลย์ กฤษณจักราวัฒน์ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 กรุงเทพฯ และนายเสกสรร กาวินชัย โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา จ.ลำปาง ประเภทผู้บริหารสถานศึกษา นายธำรงค์ น่วมศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์ และภราดาประภาส ศรีเจริญ อธิการโรงเรียนลาซานจันบุรี (มาดาพิทักษ์) จ.จันทบุรี ประเภทผู้บริหารการศึกษา ดร.สุรัตน์ ดวงชาทม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามหาสารคาม เขต 1 และ ประเภทบุคลากรทางการศึกษาอื่น นายเสริม คงประเสริฐ ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 1

"มติชน" จึงขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับครูดีเด่นทั้ง 9 คนนี้

@ นางจุรี โก้สกุล โรงเรียนภูเก็ตปัญญานุกูล

คุณ ครูจุรี วัย 51 ปี เป็นครูที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ได้เป็นครูมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 ได้ทำงานวิจัยในชั้นเรียนเรื่องการแก้ปัญหาการออกเสียงพยัญชนะ ต สำหรับผู้พิการที่บกพร่องทางการได้ยิน ระดับชั้น ป.4 ผลงานวิจัยนี้ได้นำเผยแพร่ต่อโรงเรียน ผู้ปกครองและบุคคลทั่วไป เป็นสื่อนวัตกรรมทางการศึกษาที่เป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนที่มีปัญหาทางการ ได้ยิน นอกจากนี้ ยังได้จัดทำโปรแกมประดิษฐ์พจนานุกรมภาษามือ ช่วยสื่อสารคนพิการทางหู โดยเป็นสื่อที่สามารถติดต่อออนไลน์ได้ทางอินเตอร์เน็ต จากความรู้ ความสามารถและความมุ่งมั่น ส่งผลให้ครูจุรีมีผลงานเป็นที่ยอมรับ และได้รับรางวัลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง 5 ปีซ้อน เช่น รางวัล "ครูเกียรติยศ" รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และรางวัลครูการศึกษาพิเศษดีเด่น

@ นายจตุรพัฒน์ วิไลรัตน์ โรงเรียนวัดสันติธรรม

ครู จตุรพัฒน์ อายุ 53 ปี ตลอดระยะเวลาที่ทำการสอนมามากกว่า 33 ปี ได้เป็นแบบอย่างที่ดี ได้มุ่งเน้นการเรียนรู้โดยผู้เรียนเป็นสำคัญ และเนื่องจากนักเรียนที่สอนเป็นนักเรียนที่ด้อยโอกาส มีสติปัญญาในระดับปากลางถึงอ่อนและอ่อนมาก จึงได้พยายามจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยให้โอกาสนักเรียนในการพัฒนารูปแบบ การเรียนรู้ตามศักยภาพของตนเอง จากการปฏิบัติงานที่เสียสละและทุ่มเทส่งผลให้ครูจตุรพัฒน์ได้รับโล่รางวัล เกียรติยศ/ครูดีเด่น/รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ จนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 45 รางวัล อาทิ ครูผู้สอนคณิตศาสตร์ดีเด่นระดับประเทศ ปี พ.ศ.2528, 2533 รางวัลผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและ จรรยาบรรณ สร้างคุณประโยชน์ในด้านการศึกษาให้แก่ประเทศชาติ ของคุรุสภา ในปี พ.ศ.2550 ฯลฯ

@ นายพลศักดิ์ เผ่ากันทรากร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์

คุณ ครูพลศักดิ์ วัย 52 ปี เป็นครูที่มีความริเริ่มสร้างสรรในวิชาชีพเป็นอย่างสูง นับตั้งแต่เริ่มเข้ารับการครูได้นำความรู้ทางด้านพืชไร่ที่ได้ศึกษามาฝึกสอน ถ่ายทอดให้กับนักศึกษา จนนักศึกษาได้รับรางวัลชนะเลิศลำดับที่ 1 และได้นำความรู้เกี่ยวกับการขยายพันธุ์พืชมาใช้ให้นักศึกษาหารายได้ระหว่าง เรียน ทำให้นักศึกษามีรายได้แบ่งเบาภาระครอบครัว นอกจากนี้ ยังได้คิดค้นหานวัตกรรมการสอนที่สามารถช่วยให้นักศึกษาเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งหาเทคนิคใหม่ๆ เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ในวิชาที่ได้ศึกษา ไม่ว่าจะเป็นวิชาโครงงานขยายพันธุ์พืช หลักพันธุศาสตร์ พฤกษศาสตร์ การปรับปรุงพันธุ์พืช และการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานชุดปลูกพันธุ์พืชโดยไม่ใช้ดินแบบไม้ไผ่ ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาค ซึ่งอุปกรณ์ชุดนี้ได้นำไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรเพื่อใช้ปลูกผักปลอดสารพิษ จนเกษตรกรสามารถนำไปสร้างเองเพื่อใช้ประกอบอาชีพแบบเกษตรพอเพียง

@ นายไพบูลย์ กฤษณจักราวัฒน์ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2

ครู ไพบูลย์ อายุ 52 ปี ได้พัฒนาความรู้ของตนเองในรายวิชาที่สอน โดยเฉพาะวิชากระบี่กระบอง และมวยไทย ได้ก่อตั้งชมรมกระบี่กระบองมวยไทย บดินทรเดชา 2 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539-ปัจจุบัน เพื่อเพิ่มพูนพัฒนาทักษะการเรียนการสอน และสร้างจิตสำนึกให้แก่นักเรียนได้ตระหนักถึงคุณค่ากีฬาประจำชาติไทย และยังได้ร่วมกับนักเรียนในชมรมกระบี่กระบองและมวยไทย บดินทรเดชา 2 ให้บริการสังคม โดยเป็นวิทยากรสาธิตกีฬากระบี่กระบองและมวยไทยให้แก่ชุมชนและมูลนิธิการ ศึกษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-นานาชาติ (A F S X ประเทศไทย) เป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยให้ชาวต่างชาติได้ชื่นชม และได้ร่วมกับนักเรียนมูลนิธิ YOUNG EXCHANG SERVICE (Y E S) ซึ่งเป็นนักเรียนทุนจากแคนาดา ฝึกซ้อมจนสามารถออกแสดงตามงานต่างๆ ได้ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์พัฒนาการเรียนการสอนให้มี ประสิทธิภาพอยู่เสมอ โดยพัฒนาสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่สอน เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ ดีวีดี และเว็บไซต์ จนได้รับการยกย่องและได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย เช่น โล่เกียรติคุณ "บุคคลที่ทำคุณประโยชน์เยาวชน สาขากีฬาและนันทนาการ" ประจำปี 2550 ของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ

@ นายเสกสรร กาวินชัย โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา

ครู เสกสรร วัย 42 ปี ตั้งแต่เริ่มเป็นครูได้เริ่มศึกษาเรียนรู้เทคนิควิธีการเรียนการสอน ศึกษาสภาพข้อมูลท้องถิ่น นักเรียน บริบทของโรงเรียนและสภาพสังคมปัจจุบัน ทดลองออกแบบนวัตกรรม เรื่อง "ชิ้นงานฝึกทักษะจากเศษไม้" โดยมีการพัฒนาปรับปรุงให้มีความเหมาะสมกับสภาพความต้องการของโรงเรียน ชุมชนมากยิ่งขึ้น ทำให้นักเรียนสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น มียอดการจำหน่ายผลผลิตเพิ่มขึ้น และได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น นวัตกรรมชิ้นนี้ได้พัฒนาสร้างสรรค์ให้ก้าวสู่เวทีการประกวดระดับชาติ จนได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย รวมทั้งผลงานของนักเรียนได้รับการยอมรับเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 4 ดาว จากความรู้ ความสามารถของคุณครูเสกสรรได้รับการยกย่องเกียรติคุณจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ ได้รับพระราชทานโล่เป็นบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเยาวชน ประจำปี 2550 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ de chevalier แห่งราชอาณาจักรเบลเยียม ในฐานะนักประดิษฐ์คิดค้น 1 ใน 5 คนไทย ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ปี พ.ศ.2548 และได้รับรางวัลเหรียญทอง Brussels Eureka 2005 นวัตกรรมทางการศึกษา ในการจัดงาน World Exhibition กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม

@ นายธำรงค์ น่วมศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์

นาย ธำรงค์ อายุ 51 ปี เป็นผู้บริหารมืออาชีพ ใช้ความรู้ ความสามารถพัฒนาโรงเรียนให้มีเจริญก้าวหน้าจนได้รับรางวัลติดต่อกันหลายปี เป็นผู้ที่นำโทรทัศน์และจานดาวเทียมมาใช้ในการจัดการศึกษา นำเทคโนโลยีมาใช้ในการสอนนาฏศิลป์ และส่งเสริมให้ครูและนักเรียนแสดงออก จนได้รับรางวัลโรงเรียนเอกลักษณ์ดีเด่น เป็นผู้ริเริ่มโครงการพัฒนาความสามารถพิเศษ 7 ศูนย์ อันประกอบด้วย ศูนย์พัฒนาความสามารถด้านคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ดนตรี นาฏศิลป์ ศิลปะ จิตวิทยาและแนะแนว และทักษะการคิดระดับสูง มีการนำระบบคุณธรรมมาใช้ในการบริหารงาน และพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของครู จนโรงเรียนได้รับรางวัลสถานศึกษาดีเด่นด้านการปลูกฝังพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ของสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เขตการศึกษา 7 และยังได้รับการยอมรับทั่วไป ทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น

@ ภราดาประภาส ศรีเจริญ อธิการโรงเรียนลาซานจันบุรี (มาดาพิทักษ์)

ภราดา ประภาส อายุ 50 ปี เป็นผู้รับใบอนุญาต ผู้จัดการและอธิการโรงเรีนยลาซานจันบุรี (มาดาพิทักษ์) เป็นผู้บริหารที่มีระเบียบวินัยในตนเอง บริหารโรงเรียนอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนการทำงาน และพยายามแสวงหาความรู้ด้วยตนเองอยู่เสมอ เพื่อนำความรู้มาขยายผลให้แก่คณะครูในโรงเรียน และเพื่อนครูในชุมชนนำไปปฏิบัติได้ และยังเป็นผู้นำด้านการจัดกิจกรรมต่างๆ บริหารงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาล เปิดโอกาสให้บุคลากรในโรงเรียนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการตัดสินใจ ดำเนินงานต่างๆ ของโรงเรียน ส่งผลให้ในปีการศึกษา 2550 โรงเรียนได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตามแนว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น ในงานมหกรรมเศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ฯลฯ

@ ดร.สุรัตน์ ดวงชาทม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามหาสารคาม เขต 1

ดร. สุรัตน์ อายุ 53 ปี เป็นผู้บริหารการศึกษาที่พัฒนาตนเองด้านวิชาชีพอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยขวนขวายหาความรู้ให้กับตนเองอยู่เสมอ ได้สนับสนุนให้สถานศึกษาพัฒนาเทคนิควิธีการสอนใหม่ๆ ให้กับครู ผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ในการเป็นผู้บริหารการศึกษา คือ ดร.สุรัตน์สามารถพัฒนาให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามหาสารคาม เขต 1 ได้รับการคัดเลือกจาก สพฐ.ให้เป็นเขตนำร่องในการใช้ระบบควบคุมเชิงประจักษ์ (Visual Control) ในการดำเนินงานตามคำรับรองปฏิบัติราชการ และนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการของหน่วยงานทางการศึกษาในสังกัด ทุกระดับ โดยมุ่งโรงเรียนเป็นฐาน (SMB : School Based Management) และโครงการสำนักงานอัตโนมัติ (One Stop Service) และใช้ระบบ E-Office ในงานธุรการ ทำให้ลดการรับส่งเอกสารและลดการเดินทางระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่กับ โรงเรียน ดร.สุรัตน์ยังได้รับรางวัลเป็นจำนวนมาก อาทิ โล่เกียรติคุณผู้บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานดีเด่น และเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ "คุรุสดุดี" จากคุรุสภา นักบริหารดีเด่น สาขานักบริหาร-พัฒนาและส่งเสริมการศึกษา ฯลฯ

@ นายเสริม คงประเสริฐ ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 1

นาย เสริม วัย 58 ปี ได้คิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการปฏิบัติวิชาชีพ พัฒนานวัตกรรมสร้าง "งานเกษตรสมุนไพรตามแนวพระราชดำริ" โดยบูรณาการ "คุณธรรมจริยธรรมนำความรู้" สู่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้แหล่งการเรียนรู้พัฒนาคุณภาพ "การจัดการเรียนรู้สร้างโรงเรียนเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้" ได้พัฒนารูปแบบการนิเทศก์ที่มีผลต่อการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนใน สถานการณ์วิกฤต โดยใช้กระบวนการนิเทศแบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม "สคลิบแดน โมเดล" (Networks & Participation "SCLIPDAN Model") จนได้รับการยกย่องเป็นศึกษานิเทศก์ดีเด่นระดับจังหวัด ระดับชาติ และระดับประเทศ ในปี พ.ศ.2533 และได้เป็นศึกษานิเทศก์เกียรติยศ ในปี 2546

หน้า 7

วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11271 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: