พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับ "ความรู้"

“...ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดถือเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้ความรู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔

วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

"มาฆบูชา" วันแห่งความรัก




"มาฆบูชา" วันแห่งความรัก


ความรักของสมเด็จพระพุทธองค์ สูงส่งบริสุทธิ์ผ่องใส
ไม่ให้ทุกข์ไม่ให้โทษไม่ให้ภัย แก่ชีวิตจิตใจใดทั้งนั้น

ด้วยทรงมีความรักบริสุทธิ์สูงส่ง ไม่มีเสมอเหมือน
พระพุทธองค์จึงทรงแผ่พระมหากรุณาได้กว้างใหญ่ไพศาล
ไม่มีขอบเขต ทั้งแก่พรหมเทพ มนุษย์สัตว์
ปรากฏแจ้งชัดใน โอวาทปาติโมกข์ ที่ทรงแสดงในวันมาฆบูชา

พึงไม่ทำบาปทั้งปวง
พึ่งทำกุศลให้ถึงพร้อม
พึงรักษาจิตของตนให้ผ่องใส

บาปย่อมก่อให้เกิดทุกข์โทษภัยแก่ผู้ทำและผู้อื่น
พระพุทธองค์จึงทรงเตือนไม่ให้ทำ

กุศลย่อมเป็นคุณแก่ผู้ทำและผู้อื่น
พระพุทธองค์จึงทรงเตือนให้ทำ

จิตผ่องใสคือจิตที่ไกลได้จากกิเลสโกรธหลง ที่มีอยู่เต็มโลก
ย่อมให้ความสุขสงบอย่างยิ่งจนถึงเป็นบรมสุข
พระพุทธองค์จึงทรงเตือนให้รักษาจิตของตน

: แสงส่องใจ มาฆบูชา ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๕
: สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ที่มา dhammajak.net