พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับ "ความรู้"

“...ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดถือเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้ความรู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552


วิชามารรัฐกิจ-101 : ว่าด้วยการโกงรัฐให้แนบเนียน โดยไม่ต้องประมูลได้อย่างไร?

วันที่ 08.06.2552
โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ต่อตระกูล ยมนาค

ลองวาดภาพในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าเราอาจจะได้เห็นหลักสูตรสอนวิชาโกงรัฐขึ้นสอนในระดับมหาวิทยาลัยในหลักสูตรบริหารธุรกิจ ถ้าสังคมไทยยังพัฒนาการเมืองไปในทางที่เป็นอยู่เหมือนในปัจจุบันที่มีนักการเมืองที่โกงกินเงินของประเทศ ยังคงได้เงินก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากส่วนแบ่ง 5% เพิ่มเป็น 10%,15%, 20%, 25% มาเป็น 30% ในปัจจุบันนักการเมืองจำนวนหนึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว จากเงินที่ได้มาเพียง 1,000 ล้าน (10%) เมื่อ 6 ปีก่อน กลายมาเป็นกลุ่มนักการเมืองที่สำคัญในปัจจุบัน นักการเมืองอีกพวกหนึ่งเรียนรู้เทคนิคลับนี้จากปรมาจารย์ที่เป็นระดับผู้นำพรรคหนึ่งในอดีต สามารถล็อกเงื่อนไขการประมูล ทำให้พรรคพวกกลุ่มตนเองได้งานจัดซื้อจัดจ้างงานภาครัฐเกือบทั้งหมด

ความรู้ที่ต้องเรียกว่าเป็น วิชามารรัฐกิจนี้ มีผู้รู้อยู่ในนักการเมืองจำนวนไม่มาก จากหลักการโกงง่ายๆ ที่มีแต่หลักการที่ว่า ต้องอย่าให้มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร โดยห้ามรับเป็นเช็ค ให้รับเป็นเงินสดเท่านั้น แม้จะต้องใช้รถแวนขนกันเต็มคันรถก็ตาม หากต้องเขียนให้เขียนบนฝ่ามือแล้วชูให้อ่าน เมื่อฝ่ายผู้ถูกรีดไถอ่านเสร็จให้รีบลบข้อความออกจากฝ่ามือ โดยถูมือทั้งสองข้างทันที

จากความรู้เทคนิคง่ายๆ กลายเป็นความรู้ที่ขยายตัวไปถึงการนำเงินเหล่านั้นไปใช้เพื่อเข้าสู่การยึดอำนาจปกครองประเทศตามวิถีทางการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ได้อย่างไร โดย ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ ได้นำมารวบรวมเป็นครั้งแรก ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ "คู่มือทรราช - เทคนิคการคอร์รัปชันปล้นชาติ ยึดประเทศและทำลายคนดี" เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2543 และกลายเป็นหนังสือขายดี ที่ทำนายเหตุการณ์บ้านเมืองในอีก 5 ปี ได้แม่นยำยิ่งกว่าหมอดู และในปี 2550 ดร.วุฒิพงษ์ ก็เป็นผู้หนึ่งที่ถูกวิชามารนี้ทำลายไปตามเทคนิค "ทำลายคนดี" ที่อาจารย์ได้เขียนไว้เองในหนังสือเล่มนี้ ขอยกบัญญัติ 10 ประการของผู้ที่จะเป็นผู้นำทรราชมาสรุป ดังนี้

1.ยึดรัฐบาล เริ่มด้วยการยึดสภาหรือกวาดซื้อ ส.ส. 2.ยึดธุรกิจผูกขาด ธุรกิจคมนาคม ธุรกิจขนส่ง 3.ยึดองค์กรของรัฐ วางคนของตัวเองในตำแหน่งสำคัญๆ ในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ และรัฐวิสาหกิจ 4.ทำลายคู่แข่งทางการเมือง วิธีการทำลายที่ดีที่สุดก็คือทำลายภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ 5.ทำลายคนดี ต้องทำลายเพราะคนดีเป็นอุปสรรคการโกงชาติ ปล้นประชาชน วิธีการที่ดีที่สุดคือซื้อสื่อ 6.ทำลายภาคประชาชน ให้ขัดขวางความเติบโตของภาคประชาชนด้วยการทำให้พวกเขาขาดแคลนใน "3 ชั่น" คือ Education, Organization และ Information 7.ขัดขวาง (ทำลาย) การปฏิรูปทางการเมือง 8.สร้างภาพลักษณ์ เน้นวิธีการ "เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น" และซื้อนักวิชาการ 9.สร้างเครือข่ายทุจริตชน ควรประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ เช่น นักการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการระดับสูง ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ นายทหารระดับสูง มาเฟีย สื่อมวลชนอาวุโส 10.สร้างการบริหารองค์กรทรราช ต้องบริหารแบบทรราชมืออาชีพ และพัฒนาฝีมือตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถเขมือบโครงการที่มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ สู่ระดับแสนล้านบาทให้ได้

ในเนื้อหาวิชามารรัฐกิจ-101 จะให้ความรู้ในขั้นปฏิบัติของกลุ่มผู้ทุจริตโกงชาติต่อจากตำราคู่มือทรราช เพื่อให้สามารถโกงเงินรัฐให้แนบเนียนโดยไม่ต้องประมูลได้อย่างไรเป็นความรู้ที่สาธารณชนคนดี ที่รักชาติ รักประชาธิปไตยควรรู้ไว้ และใช้ในการติดตามพฤติกรรม

ลักษณะขบวนการโกงเงินของชาติจะมีพฤติกรรม 9 ประการ ดังนี้

1.จะไม่สร้างหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีเอกสารและลายเซ็น ไม่มีการโอนเงินทางธนาคาร ไม่เจรจาในสถานที่อาจถูกอัดเทป อัดคลิป หรือถูกถ่ายภาพ

2.ล็อกเงื่อนไขการประมูลตั้งแต่เริ่มเขียนโครงการ (TOR) กำหนดเงื่อนไขที่มีผู้ผลิตได้คนเดียวในโลก เช่น เครื่อง X-Rays กระเป๋า ต้องตรวจยาเสพติดได้ด้วย กำหนดเงินค้ำประกันสูงหลายพันล้าน กำหนดคุณสมบัติพิเศษที่มีราคาสูงแต่เวลาทำจริงจะลดหย่อนสเปคให้ถ้าเป็นบริษัทพวกตัวเอง กำหนดเวลาส่งมอบสั้นและมีค่าปรับสูงมากและกำหนดเสร็จภายใน 1 ปี แต่ทำจริงต่อรองให้เป็น 2 ปีครึ่งและไม่ปรับ

3.จำกัดผู้มีสิทธิเข้าประมูลให้เหลือเพียงบริษัทกลุ่มของตนจัดเป็นคู่แข่งหลอกไม่เกิน 2 ราย

4.แต่งตั้งข้าราชการที่มีอำนาจ ประธานกรรมการและกรรมการ รัฐมนตรี เข้าไปควบคุมทุกกรรมการ

5.สร้างการสนับสนุนจากสื่อ โดยซื้อนักเขียนบทวิจารณ์ และสร้างม็อบว่าจ้างมาสนับสนุนโครงการ

6.สร้างโครงการที่เป็นโครงการเทคโนโลยีสูง เป็นเทคโนโลยีใหม่ ทำให้สร้างราคากลางได้สูง

7.จำกัดระยะเวลา การจัดเตรียมราคาเสนอให้จำกัด ทำให้คนทั่วไปจัดเตรียมข้อมูลเสนอประมูลไม่ทัน ส่วนพวกตัวเองได้เตรียมการมาล่วงหน้าเป็นปี

8.ใช้วิธี E-Auction ทำให้รู้ตัวผู้ที่จะเข้าประมูลแข่งได้หมด ฮั้วได้ 100%

9.ให้หลีกเลี่ยงการนำเข้าเสนออนุมัติในคณะรัฐมนตรีที่มีพรรคอื่นร่วมพิจารณาด้วย ถ้าจำเป็นให้เจรจาแลกเปลี่ยนการหนุนโครงการจากพรรคตรงข้าม

ถ้าได้ทั้ง 9 ข้อแล้ว ยังมีผู้เข้ามาประมูลแย่งงานในราคาต่ำ ให้หาเหตุตัดผู้เสนอเหล่านั้นให้หมดสิทธิได้รับการเปิดซองราคา โดยใช้เหตุผลว่าไม่ผ่านทางด้านของเทคนิค

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ 08/06/52

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เตรียมตัวเขียนรายงานการประชุมแบบมืออาชีพ

เตรียมตัวเขียนรายงานการประชุมแบบมืออาชีพ

จะทำอย่างไร เมื่อคุณเป็นเลขามือใหม่ ที่ถูกเจ้านายสั่งให้จดบันทึกการประชุม ซึ่งคุณยังไม่เคยเตรียมตัวสำหรับงานนี้มาก่อน คุณเริ่มกังวลและลนลาน การจดบันทึกการประชุมมีหลักการง่ายๆ ที่คุณควรทราบ เริ่มจากคุณต้องทราบก่อนว่า รายงานการประชุมนั้นเป็นการจดบันทึกที่มีความเป็นทางการสูง ดังนั้นคุณต้องมีความรวดเร็ว แม่นยำ จับประเด็นได้ดี
ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำเพื่อให้คุณสามารถจดบันทึกการประชุมได้อย่างมืออาชีพ
ก่อนการประชุม
เลือกอุปกรณ์ในการจดบันทึก เช่น ปากกา กระดาษ เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือ เครื่องบันทึกเสียง สำหรับเลขาฯ ยุคใหม่มักไม่ค่อยจดบันทึกด้วยมือแล้ว ส่วนใหญ่จะพิมพ์รายงานลงไปในคอมพิวเตอร์ทันที เพื่อความรวดเร็ว และการทำงานเพียงครั้งเดียว
ตรวจสอบว่าอุปกรณ์ดังกล่าวพร้อมสำหรับการใช้งาน เพื่อให้แน่ใจว่ามันสามารถใช้งานได้ดี การทำงานอย่างมืออาชีพมักมีการเตรียมพร้อมเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด ซึ่งอาจทำให้การทำงานสะดุด ติดขัด ไม่ราบรื่น
นำวาระการประชุมมาศึกษา คุณจะได้เห็นภาพรวมทั้งหมด เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมการ
ระหว่างการประชุม
ส่งเอกสารให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน
จดรายชื่อของผู้เข้าร่วมประชุม และที่สำคัญคุณจำเป็นต้องรู้จักว่าใครเป็นใคร เพื่อให้คุณสามารถจดได้อย่างถูกต้อง
จดบันทึกเวลาเริ่มประชุม
ไม่ต้องพยายามจดทุกคำพูด จดเฉพาะใจความสำคัญเท่านั้นก็เพียงพอ
จดข้อเสนอที่ใช้อภิปรายในที่ประชุม ระบุว่าใครเป็นผู้เสนอ และผลการลงความเห็น
จดข้อเสนอต่างๆ ที่จะใช้สำหรับลงความเห็นในครั้งต่อไปด้วย
จดบันทึกเวลาปิดประชุม
หลังการประชุม
จัดทำรายงานการประชุมทันทีที่ออกจากห้องประชุม เนื่องจากข้อมูลทุกอย่างยังคงชัดเจนอยู่ในความจำของคุณ
ระบุชื่อองค์กร ชื่อคณะกรรมการ ประเภทของการประชุม เช่น ประจำวัน ประจำสัปดาห์ ประจำเดือน หรือประจำปี และระบุวัตถุประสงค์ในการประชุมด้วย
ลงเวลาที่เริ่มประชุม และปิดประชุม
ตรวจทานให้เรียบร้อยก่อนส่ง
ถึงคุณจะเป็นเลขาฯ มือใหม่ แต่คงไม่ยากเกินไปที่จะรับมือกับสถานการณ์นี้ เพราะหลักการเขียนรายงานการประชุมนั้นง่ายนิดเดียว และคุณเองก็สามารถทำได้อย่างมืออาชีพ
http://th.jobsdb.com/TH/TH/V6HTML/Home/admin_editor32.htm

การคิดแบบนักบริหาร

การคิดแบบนักบริหาร

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
ผู้อำนวยการสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา

ความคิดคืออะไร
ความคิดเป็นผลจากการทำงานของสมองในการก่อรูป (Formulate) บางสิ่งบางอย่างขึ้นในมโนคติ (mind) ผ่านการทำงานของระบบการรับรู้ทางจิต (cognitive system) โดยในส่วนของความคิดจะทำหน้าที่แยกแยะการกระทำและความรู้สึกผ่านกระบวนการทางความคิดอันจะนำไปสู่พฤติกรรมที่ตอบสนองสถานการณ์นั้น การคิดเป็นเรี่องที่สำคัญ การคิดไม่เหมือนกัน การคิดแบบจินตนาการ การคิดหวนรำลึกถึง การคิดใช้เหตุผล และการคิดแก้ปัญหา

การคิดเกี่ยวข้องกับผู้บริหารอย่างไร
•การคิดเกี่ยวข้องกับความอยู่รอด ทำให้คนอยากคิด เพื่อความอยู่รอดก็จะเริ่มคิดอะไรออกมา หากไม่มีก็เป็นเรื่องยากที่จะอยู่รอด
•ความต้องการสิ่งแปลกใหม่ กระตุ้นให้คิด คนอยากคิดก็คือไม่อยากยึดติดของเดิม ๆ พยายาม หารูปแบบใหม่ ๆ นักคิดก็คือ กบฏตัวน้อย มีใครคิดทฤษฎีใหม่ที่ไม่คิดกบฏต่อทฤษฎีเดิม ไม่พอใจของเดิมแต่หาดีกว่าจึงจะกล้าคิด หากเราบอกตัวเองว่า เขาเป็นข้าราชการที่เสียแล้ว หากเราไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงในขณะที่รุ่นพี่ของเราเป็นอย่างนี้เราต้องนำการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาสู่เรา
•ความสงสัย กระตุ้นให้คิด สร้างให้เกิดความรู้ ความอยากรู้อยากเห็น บางครั้งเด็กอยากรู้อยากเห็น แต่คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ตอบว่า ถามอยู่ได้อย่างนี้ตัดความคิดเห็น พ่อแม่ต้องเป็นผู้สร้างการอยากรู้อยากเห็น
•สภาพปัญหา กระตุ้นให้คิด ปัญหาทำให้เราคิดสารพัด เราต้องหาวิธีออก วิธีคิด การที่เราพบปัญหานั้นทำให้เรานำมาใช้ประโยชน์ได้ การทำงานไม่ทำให้ออกมาเป็นรูปแบบเดิม ๆ ยุคนี้เป็นยุคที่ทำให้เกิดวิธีการคิดโดยมีวิธีการคิด 10 มิติ การคิด 10 มิติ เกิดจากการประชุมระดับชาติ เป็นการสอนให้คนเกิดการคิด นอกกรอบ

*ถอดเทปการบรรยายและเรียบเรียงจากการบรรยายหลักสูตรนายอำเภอรุ่นที่ 56 เมื่อวันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม 2547 เวลา 13.00 - 16.00 น. ณ โรงเรียนนายอำเภอ วิทยาลัยการปกครอง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย


วิธีคิดแบบผู้บริหารผ่านการคิด 10 มิติ
1. การคิดเชิงกลยุทธ์
2. การคิดเชิงอนาคต
3. การคิดเชิงสร้างสรรค์
4. การคิดเชิงวิพากษ์
5. การคิดเชิงบูรณาการ
6. การคิดเชิงวิเคราะห์
7. การคิดเชิงเปรียบเทียบ
8. การคิดเชิงสังเคราะห์
9. การคิดเชิงมโนทัศน์
10. การคิดเชิงประยุกต์

1. การคิดเชิงกลยุทธ์
การคิดเชิงกลยุทธ์เป็นเรื่องที่จำเป็น จริง ๆแล้วความคิดทั้ง 10 มิติ เป็นการใช้ตลอดเวลา และจำเป็นต้องใช้ในอนาคต สำหรับอันดับแรกเป็นการคิดเชิงกลยุทธ์ ผู้บริหารเป็นคนชี้ขาด คือ คนที่นำในองค์กร คนแรกที่ต้องพบปัญหา คนแรกที่ตัดสินว่าจะไปซ้ายหรือไปขวา ฉะนั้นการคิดเชิงกลยุทธ์เปลี่ยนมาก สถานการณ์เปลี่ยนตลอดเวลา และมีทรัพยากรจำกัด บุคลากรก็มีจำกัด สถานการณ์ปัจจุบันไม่สามารถแก้ปัญหาตามเคยชินได้ ฉะนั้นการคิดเชิงกลยุทธ์จึงมีความจำเป็นสำหรับผู้บริหารมากในการเผชิญปัญหาต่าง ๆ ในการวางแผน การบริหารจัดการ การกำหนดว่าจะทำอะไรก่อนหลัง นักวิชาการด้านการบริหารบอกว่า การคิดเชิงกลยุทธ์เป็นการวางแผนเพื่ออนาคตเพื่อการตัดสินใจในอนาคต มี 2 วิธีที่จะเผชิญในอนาคต วิธีหนึ่งที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น เดินไปเรื่อย ๆ ชีวิตนี้ปล่อยไปตามเวรตามกรรม ตามสภาวะแวดล้อม ตายเอาดาบหน้า อีกวิธีหนึ่ง คือ แน่นอนท่านไม่สามารถรู้อนาคตได้ เราคิดไปก่อนแล้วเราวางแผนไว้ แต่สิ่งนั้นเกิดขึ้นและต้องตัดสินใจ ณ วันนี้ นักวิชาการอีกคนหนึ่งนายไมเคิลบอกว่า ขบวนการคิดเชิงกลยุทธ์ เป็นการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยการจัดสรรทรัพยากรตั้งแต่วันนี้ เพราะฉะนั้นผู้บริหารต้องกำหนดแนวทางที่ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขและทรัพยากรที่จำกัด ภายใต้การเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง บริหารงบประมาณ บริหารบุคลากรให้บรรลุเป้าหมาย การจะให้บรรลุตามเป้าหมายต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุม การประเมินความได้เปรียบและเสียเปรียบของสถานการณ์ ที่เกิดขึ้นและการคาดการณ์ของอนาคต การเลือกกลยุทธ์เป็นสิ่งสำคัญมากในการประสบความสำเร็จ หลักการคิดเชิงกลยุทธ์มีดังนี้
ขั้นที่หนึ่ง กำหนดเป้าหมายที่ต้องการจะไปให้ถึง
ขั้นที่สอง วิเคราะห์และประเมินสถานะ
ขั้นที่สาม การหาทางเลือกกลยุทธ์
ขั้นที่สี่ การวางแผนปฏิบัติการ
ขั้นที่ห้า การวางแผนคู่ขนาน
ขั้นที่หก การทดสอบในสถานการณ์จำลอง
ขั้นที่เจ็ด การลงมือปฏิบัติการ
ขั้นที่แปด การประเมินผล

2.การคิดเชิงอนาคต

มีประโยชน์มากและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการคาดการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างมีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม การคิดเชิงอนาคตมีหลายวิธี แต่ใช้วิธีที่เหมาะสมและประกอบด้วย 6 หลักดังนี้คือ
(1) หลักการมองอย่างองค์รวม (Holistic Approach) ต้องมองทุกด้านที่เกี่ยวข้องกัน
(2) หลักความต่อเนื่อง (Continuity) การคาดการณ์ในอนาคตต้องคาดการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์กัน
(3) หลักความสัมพันธ์เชิงเหตุผล(Causal Relationship) การคิดเชิงอนาคตไม่ใช่เป็นการคิดแบบเดาสุ่ม แต่เป็นหลักของความคิดแบบมีความสัมพันธ์อย่างมีเหตุผลได้
(4) หลักการอุปมา(Analogy) โดยยึดหลักว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่าง ๆในโลกนี้ล้วนมีแบบแผน ล้วนดำเนินไปอย่างมีระบบ เหตุการณ์ใดที่เกิดขึ้นก็มักจะเกิดเหตุการณ์อื่นตามมาด้วย
(5) หลักการจินตนาการ(Imagination) การใช้จินตนาการเป็นการที่ทำให้การวาดภาพได้ในอนาคตเป็นการท้าท้าย การจะใช้หลักจินตนาการเราต้องใช้หลักเหตุผล เพื่อที่จะให้การจินตนาการไม่ไร้หลักการ
(6) หลักดุลยภาพ (Equilibrium) เป็นหลักการที่บอกว่าในโลกแห่งความเป็นจริง ต้องปรับเข้าหาส่วนดีเสมอ หากมีการเสียสมดุลย์เกิดขึ้นระบบก็จะพยายามปรับให้เกิดความสมดุลย์แก่ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความสมดุลย์ทางด้านเศรษฐกิจ ความสมดุลย์ในร่างกายของเราเอง

3. การคิดเชิงสร้างสรรค์

ผู้บริหารมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการคิดเชิงสร้างสรรค์ โจทย์ไม่เหมือนเดิม คำตอบไม่เหมือนเดิม วิธีตอบคำถามคือไม่เหมือนเดิม จึงมีความแปลกใหม่ ต้องการนวัตกรรมในการตอบคำถาม ในการบริหารงานต่าง ๆถูกบังคับให้เราต้องเอาชนะสิ่งต่าง ๆด้วยวิธีการใหม่ ๆการคิดเชิงสร้างสรรค์ไปสู่ความคิดใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนสามารถทำให้เราค้นหาคำตอบที่ดีที่สุด และอีกอย่างการคิดเชิงสร้างสรรค์เป็นการฝ่าวงล้อมในการคิดเล็ก ๆ หรือการแวกม่านความคิดต่าง ๆออกไปเพื่อค้นพบในการแก้ปัญหาใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ใครคิดก่อนได้เปรียบ หลักการคิดสร้างสรรค์ได้แก่
(1) ฝึกถามคำถามที่กระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ ๆ
(2) อย่าละทิ้งความคิดใด ๆจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไร้ประโยชน์
(3) การพัฒนาเทคนิคช่วยคิดสร้างสรรค์
วงการโฆษณามักจะใช้ขอบเขตทั้ง 3 ข้อดังกล่าว

4.การคิดเชิงวิพากษ์
หมายถึง ความตั้งใจพิจารณาตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยไม่เห็นคล้อยตามข้อเสนอ ไม่ด่วนสรุปการเห็นคล้อยตาม เป็นการตั้งคำถามท้าท้ายหรือโต้แย้งสมมุติฐานที่อยู่เบื้องหลัง พยายามเปิดกว้างทางความคิดออกสู่ความแตกต่างในด้านต่าง ๆมากขึ้นให้ได้ประโยชน์มากกว่าเดิม หลักการคิดเชิงวิพากษ์ได้แก่
หลักที่ 1 ให้สงสัยไว้ก่อน................อย่าเพิ่งเชื่อ
หลักที่ 2 เผื่อใจไว้...............อาจจะจริงหรืออาจจะไม่จริงก็ได้
หลักที่ 3 เป็นพยานฝ่ายมาร............ตั้งคำถามซักค้าน

5.การคิดเชิงบูรณาการ
ผู้บริหารต้องคิดแก้ปัญหาในเชิงบูรณาการ ผู้บริหารต้องคิดไม่แยกส่วน ต้องคิดแบบแกนหลักได้อย่างเหมาะสม ครบถ้วนทุกมุมมอง ไม่แยกส่วนในการแก้ปัญหา หลักการคิดเชิงบูรณาการได้แก่
(1) ตั้ง “แกนหลัก”
(2) หาความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับแกนหลัก
(3) วิพากษ์เพื่อให้เกิดการบูรณาการครบถ้วน

6. การคิดเชิงวิเคราะห์
ผู้บริหารมีความจำเป็นในการคิดเชิงวิเคราะห์ เช่นการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน เพื่อจำแนกอุปกรณ์ของจุดใดจุดหนึ่งแล้วค้นหาสิ่งที่แท้จริงที่เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีที่มาที่ไป มีเหตุมีผลย่อมมีองค์ประกอบย่อย ๆที่ซ่อนอยู่ด้วย และองค์ประกอบนั้นมีความสอดคล้องหรือตรงข้ามกันกับสิ่งที่ปรากฏภายนอกหรือเปล่า หลักการคิดเชิงวิเคราะห์ประกอบด้วย
(1) หาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลของข้อมูลที่ได้รับ
(2) ใช้หลักการตั้งคำถาม
(3) ใช้หลักการแยกแยะความจริง เช่น
(3.1) แยกแยะระหว่าง ความจริง (truth) กับความเชื่อ (belief)
(3.2) แยกแยะโดยจำกฎขั้วตรงข้าม (the principle of contradiction)
(3.3 แยกแยะระหว่างข้อเท็จจริง (facts) กับข้อคิดเห็น (opinions)

7.การคิดเชิงเปรียบเทียบ
การคิดเชิงเปรียบเทียบมีประโยชน์มากสำหรับผู้บริหาร 3 ด้านคือ
(1) คิดเปรียบเทียบใช้วิเคราะห์
(2) คิดเปรียบเทียบใช้อธิบาย
(3) คิดเปรียบเทียบเพื่อแก้ปัญหา
การคิดเปรียบเทียบเพื่อวิเคราะห์กับเหตุการณ์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน มีความสัมพันธ์ใกล้เคียงกันเพื่อให้เราลดความผิดพลาด เช่น สมมุติมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นแต่ยังไม่ชัดเจนอาจไม่สามารถวิเคราะห์ได้หรือตัดสินใจได้ ก็นำมาเปรียบเทียบมาวิเคราะห์ได้ว่าเหตุการณ์ไหนดีเหตุการณ์ไหนไม่ดี การคิดเปรียบเทียบเพื่อแก้ปัญหาเป็นการจุดประกายความคิดและการสร้างสรรใหม่ ๆ หลักการคิดเชิงเปรียบเทียบได้แก่
(1) กำหนดวัตถุประสงค์ของการเปรียบเทียบ
(2) กำหนดเกณฑ์ (criteria) การเปรียบเทียบ
(3) แจกแจงรายละเอียดของแต่ละเกณฑ์
(4) เปรียบเทียบและตอบวัตถุประสงค์

8.การคิดเชิงสังเคราะห์
เป็นความสามารถขององค์ประกอบต่าง ๆแล้วนำมาผสมผสานเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้สิ่งใหม่ตามความประสงค์ที่เราต้องการ ในคำตอบจะตอบได้หลาย ๆอย่าง นำข้อดีของแต่ละอันมาสังเคราะห์เพื่อเป็นวิธีใหม่ที่นำมาใช้ในหน่วยงานของเราได้เลย เช่น การสังเคราะห์ช่วยให้เราไม่ต้องคิดสิ่งต่าง ๆจากสูตร หากเราไม่รู้ประโยชน์จากความคิดของคนรุ่นเก่าแทบจะไม่มีอะไรที่ยากที่ทำไม่ได้ ทุกอย่างมักจะมีแง่มุมที่ทำไว้แล้ว แต่เราใช้แรงสักหน่อย นำมาศึกษา นำมาสังเคราะห์ ดูจากเรื่องเดียวกันว่ามีปัญหาเคยเกิดไหม
การคิดจากเชิงสังเคราะห์เริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่า มีอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องการสังเคราะห์นำเอาสิ่งนั้นมาแยกแยะออกจากกัน ที่นำมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน การกำหนดลักษณะและขอบเขตข้อมูลที่จะนำมาสังเคราะห์เป็นเรื่องสำคัญ เช่น การเลือกเฉพาะข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ โดยเลือกขอบเขตที่ชัดเจน


9.การคิดเชิงมโนทัศน์

หมายถึง การประสานข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเข้าด้วยกันโดยไม่ขัดแย้ง การคิดเชิงมโนทัศน์เป็นการมอบภาพต่าง ๆ ให้มีความสอดคล้องกันให้เป็นภาพที่คมชัด กระชับสามารถอธิบายได้ เป็นการคิดรวบยอด สร้างกรอบความคิดให้ชัดเจน สามารถถ่ายทอดออกไปได้ การที่เราต้องเรียนรู้เชิงมโนทัศน์นั้นเพราะว่า กรอบความคิดเรื่องประสบการณ์และความรู้ ฉะนั้นการปรับมโนทัศน์ของเราและสร้างมโนทัศน์ใหม่จะเป็นเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “นายอำเภอ” นั้น เบื้องหลังสะท้อนถึงโครงสร้างการบริหารงาน สะท้อนถึงหน้าที่ บุคลิก บทบาทของขอบข่ายงาน เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างถูกมาเรียงไว้ แล้วคิดออกมาเป็นมโนทัศน์ เช่น มโนทัศน์เรื่องของยาเสพติด เมื่อก่อนเรามีมโนทัศน์หมายถึง เสพแล้วติดให้โทษ แต่ปัจจุบัน ยาเสพติดที่ขายตามท้องตลาดซื้อได้ตามร้านขายยาด้วย ที่กินแล้วอาจไม่ได้ให้โทษมากมาย วิธีการสร้างมโนทัศน์ประกอบด้วย
(1) การเป็นนักสังเกต
(2) การตีความ
(3) การเปรียบเทียบระหว่างข้อมูลที่ได้รับมากับกรอบความคิดเดิม
ก.สามารถเปรียบเทียบความแตกต่าง/เหมือนกันในรายละเอียด
ข.สามารถแยกมโนทัศน์หลัก - มโนทัศน์ย่อยได้
(4) การปรับกรอบมโนทัศน์ใหม่
ก.การปรับกรอบเพิ่มในรายละเอียดมากขึ้น
ข.การขยายกรอบความคิดออกไปแนวข้างมากขึ้น
(5) การรับกรอบความคิดใหม่เข้ามาทั้งหมด
(6) การสร้างมโนทัศน์ใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

10.การคิดเชิงประยุกต์

หมายถึง ความสามารถที่มีอยู่เดิมมาปรับใช้ในบริบทใหม่ คล้าย ๆกับนำต้นไม้ เช่น นำต้นยางจากภาคใต้ไปปลูกภาคเหนือ ภาคอีสาน ต้นยางไม่เปลี่ยนแปลงแต่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงเป็นเหมือนว่าเรานำกรอบ วิธีการหรือหลักเกณฑ์ต่าง ๆที่มีอยู่นั้น นำมาประยุกต์พวกนี้เกิดจากการคิดว่า เหล่านี้นำมาประยุกต์ใช้ได้ไหม เกิดผลดีผลเสียอย่างไร นำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่ หลักการคิดเชิงประยุกต์ประกอบด้วย
(1) ใช้หลักการทดแทนคุณสมบัติหลัก
(2) ใช้หลักปรับสิ่งเดิมให้เข้ากับสถานการณ์
(3) ใช้หลักการหาสิ่งทดแทน
การคิด 10 มิติ นำมาจากหนังสือการคิดเชิงเปรียบเทียบ จำนวน 10 เล่ม สามารถอ่านจากหนังสือเพิ่มเติมได้ หากทุกคนรู้จักวิธีการคิดและรู้จักพัฒนาความคิดทั้ง 10 มิติ ก็จะเป็นประโยชน์และเป็นพื้นฐานสำหรับนักบริหารให้รู้จักคิด รู้จักไตร่ตรอง หาวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมหรือรู้จักดำเนินชีวิตอย่างมีกลยุทธ์ ทำให้ไม่เผชิญสถานการณ์แบบหนัก ๆ
**********************************
ถอดเทปการบรรยาย/เรียบเรียง/พิมพ์โดย
นางพรรณธิภา ธนสันติ นพบ. 6
วิทยาลัยการปกครอง

AQ – ความสามารถในการเอาชนะอุปสรรค - ความสามารถในการแก้ปัญหาของทหารอาชีพ

AQ – ความสามารถในการเอาชนะอุปสรรค - ความสามารถในการแก้ปัญหาของทหารอาชีพ

โดย พันเอก ดร. ธีรนันท์ นันทขว้าง
วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2552

อาจจะมีผู้ที่มีความสงสัยจำนวนมากว่า การเป็นทหารนั้นมีความแตกต่างกับประชาชนคนทั่วไปที่เป็นพลเรือนนั้นอย่างไร เพราะคนที่จะมาเป็นทหารทุกคนจะต้องผ่านกระบวนการในการเปลี่ยนจากพลเรือนมาเป็นทหารด้วยการฝึก และยังเป็นที่รู้กันดีโดยทั่วไปว่าการฝึกของทหารนั้นผู้ที่ที่เข้ารับการฝึกจะต้องเผชิญกับความยากลำบากมิได้สะดวกสบายแต่ประการใด ซึ่งประเด็นนี้เองอาจทำให้เกิดความสงสัยเพิ่มเติมไปอีกว่า คนที่จะมาเป็นทหารจะต้องมีความอดทนต่อความยากลำบากที่เผชิญขนาดนั้นเลยหรือ และคนที่รักความสบายอยากทำงานในลักษณะของงานสำนักงานเขาเหล่านั้นต้องเผชิญกับความยากลำบากไปด้วยหรือ

ความจริงแล้วทหารนั้นมีหลากหลายหน้าที่ ตั้งแต่ปฏิบัติการรบในภาวะสงครามจนถึงงานผลิตเอกสารตามสำนักงาน ซึ่งบนหลักการที่ควรจะเป็นนั้นคนที่ทำงานแต่ในสำนักงานและมิได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการทางทหารนั้นก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเป็นทหารดังเช่น กองทัพของประเทศมหาอำนาจหลายประเทศ ที่มีพลเรือนร่วมทำงานเป็นส่วนหนึ่งในกองทัพอย่าง กองทัพสหรัฐฯ หรือกองทัพออสเตรเลีย และที่สำคัญคือกองทัพไทยเองก็กำลังดำเนินการปรับปรุงกองทัพให้ไปถึงจุดดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากกองทัพไทยเริ่มมีการบรรจุพลเรือนเข้ามาทำงานในลักษณะที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรบ เรียกว่า ข้าราชการพลเรือนกลาโหม

อย่างไรก็ตามปัจจุบันทางกองทัพยังคงเดินทางไปไม่ถึงจุดที่มีการแบ่งแยกความชัดเจนระหว่างทหารผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่การรบกับทหารที่ทำหน้าที่ประจำสำนักงาน ดังนั้นคนที่อยู่ในกองทัพเกือบจะทุกคนจึงมีความเป็นทหาร แต่งเครื่องแบบทหาร มีวินัยอย่างทหาร และมีวิธีคิดอย่างทหาร ยกเว้นแต่ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานราชการเท่านั้น ซึ่งนั่นก็หมายความว่าก่อนที่แต่ละคนจะได้แต่งเครื่องแบบทหารทุกคนจะต้องผ่านกระบวนการที่ปรับเปลี่ยนจากชีวิตพลเรือนให้เป็นทหาร

เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนที่เป็นทหารทุกคนจะต้องผ่านกระบวนการหรือการฝึก ซึ่งจะว่าไปแล้วกระบวนการหรือการฝึกนี้ก็ไม่ได้มีความลำบากเข็ญเท่าไหร่นัก เพียงแต่ผู้ที่เข้ารับการฝึกจะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในระหว่างฝึก และปรับเปลี่ยนวิธีคิด ดังนั้นคนที่จะเข้ามาเป็นทหารทุกคนจึงต้องมี Adversity Quotient: AQ หรือ ความสามารถในการเอาชนะอุปสรรค เป็นพื้นฐานจึงจะสามารถผ่านห้วงของการฝึกไปได้ และมิได้หมายความว่าเมื่อผ่านการฝึกเข้ามาเป็นทหารได้แล้วจะไม่ต้องเจอกับการฝึกหรือเผชิญกับความยากลำบากอีก ทั้งนี้เป็นเพราะทหารเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความรุนแรง ซึ่งในบางครั้งคนที่เป็นทหารจะต้องประสบภาวะที่กดดันอย่างสูงมาก เช่นการตกอยู่ท่ามกลางสนามรบ และก็มีบ่อยครั้งที่หลายคนอยู่ในสภาวะนั้นกลายมาเป็นบุคคลที่มีปัญหาทางจิต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วหน่วยทหารที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่มีความยากลำบากเช่น การเข้าสู้รบในสนามรบที่ต้องทนอยู่ในพื้นที่มีความเสี่ยงและอันตรายประสบกับภาวะที่กดดันอย่างสูงมาก หรือ การปฏิบัติงานของหน่วยรบพิเศษ เช่น การปฏิบัติงานในลักษณะชุดปฏิบัติการขนาดเล็กในหลังแนวของข้าศึก หรือ การปฏิบัติงานในพื้นที่ยากลำบากทุรกันดาร เป็นต้น

ด้วยความยากลำบากเหล่านี้จึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่เข้ามาเป็นทหารจะต้องมี AQ ในระดับที่สูง เพราะไม่มีอะไรจะสามารถประกันความสำเร็จของงานหรือภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติได้เท่ากับ ระดับของ AQ ที่สูงทีมีอยู่ในตัวทหารทุกคน เพราะ AQ คือ ความสามารถของบุคคลในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ในยามที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ยาก หรือความลำบาก [1] ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย ดร. พอล สโตลท์ซ (Dr. Paul Stoltz) โดยผู้ที่มี AQ สูงจะมีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ แม้จะพ่ายแพ้หรือล้มไปแล้วก็สามารถลุกขึ้นมาต่อสู้ใหม่ได้ ส่วนผู้ที่มี AQ ต่ำ เวลาเผชิญกับความผิดหวังหรือความทุกข์ยากก็จะยอมแพ้ บางคนอาจละทิ้งงานไปกลางคัน หรืออาจท้อแท้กับชีวิตถึงขั้นลาออกจากงานก่อนเกษียณก็มี

ดร.สโตลซ์ ยังได้ระบุถึงพบข้อแตกต่างระหว่างคนที่มี AQ สูงกับคนที่มี AQ ต่ำ โดยคนที่มี AQ สูงเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่มี AQ ต่ำจะมีลักษณะดังนี้ [2]
• มีโอกาสได้รับการคัดเลือก (Selected) และได้รับการเลือกตั้ง (Elected) ให้เป็นผู้นำมากกว่า
• เป็นนักกีฬาที่มีความสามารถสูงกว่า
• มีอัตราในการละทิ้งงานหรือลาออกจากงานกลางคันน้อยกว่าคนที่มี AQ ต่ำ ถึง 3 เท่า
• เป็นผู้บริหารที่มีความสามารถในการปฏิบัติงานสูง
• สามารถเรียนรู้งานได้รวดเร็วกว่า และสามารถประยุกต์สิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ในการทำงานได้อย่างชำนาญ
• เป็นนักแก้ไขปัญหาที่มีความสามารถสูง
• เป็นที่พึงพอใจหรือถูกใจของผู้ปฏิบัติงานที่มี AQ สูงเหมือน ๆ กัน

นอกจากนี้ สตอลท์ยังได้แบ่งบุคคลออกมาเป็น 3 กลุ่ม โดยเปรียบเทียบกับลักษณะของนักปีนเขา ไว้ดังนี้ [3]

1) พวกล้มเหลว (Quitter) กลุ่มคนเหล่านี้จะถอยห่าง ยอมแพ้ตั้งแต่เริ่มต้น ไม่มีการตั้งเป้าหมาย หรือจุดหมาย ลักษณะของคนกลุ่มนี้ จะลังเล ขี้กลัว ไม่กล้าเสี่ยง ถอดใจตั้งแต่เริ่มต้น
2) พวกล้มเลิก (Camper) กลุ่มเหล่านี้อาจจะสามารถเรียกอีกอย่าได้ว่า ท่าดีทีเหลว ช่วงแรกอาจจะมีเป้าหมายที่ดี พอทำไปสักพัก เจออุปสรรคหรือปัญหา ก็เกิดอาการท้อแท้ เลิกล้มไปโดยง่าย
3) พวกล้มลุก (Climber) บุคคลกลุ่มนี้จะมีลักษณะของนักปีนเขาโดยแท้ นั่นคือ เป็นที่มีความอดทน มุ่งมั่น มุ่งหน้า เพื่อไปสู่จุดหมายอย่างไม่ยอมแพ้โดยง่าย แม้ว่าจะมีอุปสรรคเข้ามาท้าทาย ตัวเขา แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาจะทำให้กลุ่มคนกลุ่มนี้ เลิกล้มแต่ประการใด

จากที่กล่าวมาในข้างต้นจะพบว่า การที่กำลังพลของกองทัพมี AQ สูงย่อมจะช่วยให้ กองทัพปฏิบัติภารกิจได้อย่างสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และเมื่อมองย้อนกลับไปยังกระบวนการที่ใช้ปรับเปลี่ยนบุคคลพลเรือนมาเป็นทหารนั้น จะพบว่ามีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการฝึกให้มีความทนทานต่อยากลำบากเป็นพื้นฐานลำดับแรกๆ สำหรับคนที่จะเป็นทหารทุกคน

ดังจะเห็นได้จาก รร.ทหาร ที่ทำหน้าที่ผลิตกำลังพลให้กับกองทัพในทุกระดับ(รร.นายร้อย – รร.นายสิบ) ล้วนแต่มีระบบและกระบวนการที่คอยคัดกรองผู้ที่มี ความอดทน อดกลั้น และการเผชิญกับปัญหาในเรื่องต่างๆ ในระดังที่ต่ำออกไป ซึ่งระบบเหล่านี้จะช่วยเปลี่ยนนักเรียนที่เป็นพลเรือนภายนอกให้กลายมาเป็นทหารตามที่กองทัพต้องการ ส่วนบุคคลอื่นๆ ที่เข้ามาเป็นทหารในกองทัพโดยมิได้ผ่าน รร.ทหาร ก็จะมีช่องทางหรือกระบวนการอื่นรองรับ เช่น การฝึกให้ข้าราชการกลาโหมพลเรือนก่อนที่จะทำการประดับยศ

ส่วนคนที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในสนามรบหรือเกี่ยวพันกับการรบนั้นต้องได้รับการฝึกฝนเพิ่มเติม เพื่อให้กองทัพมีความมั่นใจได้ว่ากำลังพลที่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ในการรบมีความอกทนต่อความยากลำบาก มีขีดความสามารถในการที่จะเผชิญอุปสรรคต่างๆ นาๆ และสามารถที่จะผ่านพ้นอุปสรรคเหล่านั้นไปได้ ถ้าเขาเหล่านั้นสามารถผ่านพ้นความยากลำบากที่เกิดขึ้นจริงใน สนามรบ เช่นหลักสูตรทางการรบพิเศษต่างๆ อย่าง หลักสูตรของ ทบ. เช่น หลักสูตรจู่โจม หลักสูตรของ ทร.เช่น หลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หลักสูตรการรบพิเศษ แขนงการลาดตระเวนสะเทินน้ำสะเทินบก และจู่โจม นย. และหลักสูตรของ ทอ. เช่น หลักสูตรปฏิบัติการพิเศษ

วันนี้สภาพการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและนวัตกรรมได้สร้างความสะดวกสบายให้กับเราผู้ซึ่งเป็นมนุษย์ทุกคน ในทุกอาชีพแต่อยากไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะมีเครื่องที่ทันสมัยเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าเราไม่มีคนที่มีความอดทน เราไม่มีคนที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค์ เราไม่มีคนที่ทนทานต่อปัญหา แล้วสังคมคงจะไม่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมีดีและมีประสิทธิภาพ และจะยิ่งแย่หนักเข้าไปอีกถ้า เราไม่มีทหารที่มีความอดทน เราไม่มีทหารที่พร้อมจะเผชิญกับความยากลำบาก เราไม่มีทหารที่มีความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อแล้ว กองทัพไทยคงจะยุบตัวลงและประเทศชาติก็จะขาดหลักประกันด้านการป้องกันประเทศและคงดำรงอยู่ไม่ได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นแล้ว ทหารอาชีพจึงต้องมีความสามารถในการแก้ปัญหา หรือ มี AQ ในระดับที่สูง

และทหารอย่างท่านล่ะครับคิดว่ามี AQ ในระดับที่มากน้อยเพียงใด…..

อ้างอิง
[1] มัณฑรา ธรรมบุศย์, “AQ กับความสำเร็จของชีวิต” วารสารวิชาการ ปีที่ 4,9 ( ก.ย. 2544) หน้า 12-17.
[2] ibid.
[3] http://www.sutenm.com/tag/aq.