พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับ "ความรู้"

“...ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดถือเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้ความรู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552

AQ – ความสามารถในการเอาชนะอุปสรรค - ความสามารถในการแก้ปัญหาของทหารอาชีพ

AQ – ความสามารถในการเอาชนะอุปสรรค - ความสามารถในการแก้ปัญหาของทหารอาชีพ

โดย พันเอก ดร. ธีรนันท์ นันทขว้าง
วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2552

อาจจะมีผู้ที่มีความสงสัยจำนวนมากว่า การเป็นทหารนั้นมีความแตกต่างกับประชาชนคนทั่วไปที่เป็นพลเรือนนั้นอย่างไร เพราะคนที่จะมาเป็นทหารทุกคนจะต้องผ่านกระบวนการในการเปลี่ยนจากพลเรือนมาเป็นทหารด้วยการฝึก และยังเป็นที่รู้กันดีโดยทั่วไปว่าการฝึกของทหารนั้นผู้ที่ที่เข้ารับการฝึกจะต้องเผชิญกับความยากลำบากมิได้สะดวกสบายแต่ประการใด ซึ่งประเด็นนี้เองอาจทำให้เกิดความสงสัยเพิ่มเติมไปอีกว่า คนที่จะมาเป็นทหารจะต้องมีความอดทนต่อความยากลำบากที่เผชิญขนาดนั้นเลยหรือ และคนที่รักความสบายอยากทำงานในลักษณะของงานสำนักงานเขาเหล่านั้นต้องเผชิญกับความยากลำบากไปด้วยหรือ

ความจริงแล้วทหารนั้นมีหลากหลายหน้าที่ ตั้งแต่ปฏิบัติการรบในภาวะสงครามจนถึงงานผลิตเอกสารตามสำนักงาน ซึ่งบนหลักการที่ควรจะเป็นนั้นคนที่ทำงานแต่ในสำนักงานและมิได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการทางทหารนั้นก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเป็นทหารดังเช่น กองทัพของประเทศมหาอำนาจหลายประเทศ ที่มีพลเรือนร่วมทำงานเป็นส่วนหนึ่งในกองทัพอย่าง กองทัพสหรัฐฯ หรือกองทัพออสเตรเลีย และที่สำคัญคือกองทัพไทยเองก็กำลังดำเนินการปรับปรุงกองทัพให้ไปถึงจุดดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากกองทัพไทยเริ่มมีการบรรจุพลเรือนเข้ามาทำงานในลักษณะที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรบ เรียกว่า ข้าราชการพลเรือนกลาโหม

อย่างไรก็ตามปัจจุบันทางกองทัพยังคงเดินทางไปไม่ถึงจุดที่มีการแบ่งแยกความชัดเจนระหว่างทหารผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่การรบกับทหารที่ทำหน้าที่ประจำสำนักงาน ดังนั้นคนที่อยู่ในกองทัพเกือบจะทุกคนจึงมีความเป็นทหาร แต่งเครื่องแบบทหาร มีวินัยอย่างทหาร และมีวิธีคิดอย่างทหาร ยกเว้นแต่ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานราชการเท่านั้น ซึ่งนั่นก็หมายความว่าก่อนที่แต่ละคนจะได้แต่งเครื่องแบบทหารทุกคนจะต้องผ่านกระบวนการที่ปรับเปลี่ยนจากชีวิตพลเรือนให้เป็นทหาร

เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนที่เป็นทหารทุกคนจะต้องผ่านกระบวนการหรือการฝึก ซึ่งจะว่าไปแล้วกระบวนการหรือการฝึกนี้ก็ไม่ได้มีความลำบากเข็ญเท่าไหร่นัก เพียงแต่ผู้ที่เข้ารับการฝึกจะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในระหว่างฝึก และปรับเปลี่ยนวิธีคิด ดังนั้นคนที่จะเข้ามาเป็นทหารทุกคนจึงต้องมี Adversity Quotient: AQ หรือ ความสามารถในการเอาชนะอุปสรรค เป็นพื้นฐานจึงจะสามารถผ่านห้วงของการฝึกไปได้ และมิได้หมายความว่าเมื่อผ่านการฝึกเข้ามาเป็นทหารได้แล้วจะไม่ต้องเจอกับการฝึกหรือเผชิญกับความยากลำบากอีก ทั้งนี้เป็นเพราะทหารเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความรุนแรง ซึ่งในบางครั้งคนที่เป็นทหารจะต้องประสบภาวะที่กดดันอย่างสูงมาก เช่นการตกอยู่ท่ามกลางสนามรบ และก็มีบ่อยครั้งที่หลายคนอยู่ในสภาวะนั้นกลายมาเป็นบุคคลที่มีปัญหาทางจิต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วหน่วยทหารที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่มีความยากลำบากเช่น การเข้าสู้รบในสนามรบที่ต้องทนอยู่ในพื้นที่มีความเสี่ยงและอันตรายประสบกับภาวะที่กดดันอย่างสูงมาก หรือ การปฏิบัติงานของหน่วยรบพิเศษ เช่น การปฏิบัติงานในลักษณะชุดปฏิบัติการขนาดเล็กในหลังแนวของข้าศึก หรือ การปฏิบัติงานในพื้นที่ยากลำบากทุรกันดาร เป็นต้น

ด้วยความยากลำบากเหล่านี้จึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่เข้ามาเป็นทหารจะต้องมี AQ ในระดับที่สูง เพราะไม่มีอะไรจะสามารถประกันความสำเร็จของงานหรือภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติได้เท่ากับ ระดับของ AQ ที่สูงทีมีอยู่ในตัวทหารทุกคน เพราะ AQ คือ ความสามารถของบุคคลในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ในยามที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ยาก หรือความลำบาก [1] ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย ดร. พอล สโตลท์ซ (Dr. Paul Stoltz) โดยผู้ที่มี AQ สูงจะมีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ แม้จะพ่ายแพ้หรือล้มไปแล้วก็สามารถลุกขึ้นมาต่อสู้ใหม่ได้ ส่วนผู้ที่มี AQ ต่ำ เวลาเผชิญกับความผิดหวังหรือความทุกข์ยากก็จะยอมแพ้ บางคนอาจละทิ้งงานไปกลางคัน หรืออาจท้อแท้กับชีวิตถึงขั้นลาออกจากงานก่อนเกษียณก็มี

ดร.สโตลซ์ ยังได้ระบุถึงพบข้อแตกต่างระหว่างคนที่มี AQ สูงกับคนที่มี AQ ต่ำ โดยคนที่มี AQ สูงเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่มี AQ ต่ำจะมีลักษณะดังนี้ [2]
• มีโอกาสได้รับการคัดเลือก (Selected) และได้รับการเลือกตั้ง (Elected) ให้เป็นผู้นำมากกว่า
• เป็นนักกีฬาที่มีความสามารถสูงกว่า
• มีอัตราในการละทิ้งงานหรือลาออกจากงานกลางคันน้อยกว่าคนที่มี AQ ต่ำ ถึง 3 เท่า
• เป็นผู้บริหารที่มีความสามารถในการปฏิบัติงานสูง
• สามารถเรียนรู้งานได้รวดเร็วกว่า และสามารถประยุกต์สิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ในการทำงานได้อย่างชำนาญ
• เป็นนักแก้ไขปัญหาที่มีความสามารถสูง
• เป็นที่พึงพอใจหรือถูกใจของผู้ปฏิบัติงานที่มี AQ สูงเหมือน ๆ กัน

นอกจากนี้ สตอลท์ยังได้แบ่งบุคคลออกมาเป็น 3 กลุ่ม โดยเปรียบเทียบกับลักษณะของนักปีนเขา ไว้ดังนี้ [3]

1) พวกล้มเหลว (Quitter) กลุ่มคนเหล่านี้จะถอยห่าง ยอมแพ้ตั้งแต่เริ่มต้น ไม่มีการตั้งเป้าหมาย หรือจุดหมาย ลักษณะของคนกลุ่มนี้ จะลังเล ขี้กลัว ไม่กล้าเสี่ยง ถอดใจตั้งแต่เริ่มต้น
2) พวกล้มเลิก (Camper) กลุ่มเหล่านี้อาจจะสามารถเรียกอีกอย่าได้ว่า ท่าดีทีเหลว ช่วงแรกอาจจะมีเป้าหมายที่ดี พอทำไปสักพัก เจออุปสรรคหรือปัญหา ก็เกิดอาการท้อแท้ เลิกล้มไปโดยง่าย
3) พวกล้มลุก (Climber) บุคคลกลุ่มนี้จะมีลักษณะของนักปีนเขาโดยแท้ นั่นคือ เป็นที่มีความอดทน มุ่งมั่น มุ่งหน้า เพื่อไปสู่จุดหมายอย่างไม่ยอมแพ้โดยง่าย แม้ว่าจะมีอุปสรรคเข้ามาท้าทาย ตัวเขา แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาจะทำให้กลุ่มคนกลุ่มนี้ เลิกล้มแต่ประการใด

จากที่กล่าวมาในข้างต้นจะพบว่า การที่กำลังพลของกองทัพมี AQ สูงย่อมจะช่วยให้ กองทัพปฏิบัติภารกิจได้อย่างสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และเมื่อมองย้อนกลับไปยังกระบวนการที่ใช้ปรับเปลี่ยนบุคคลพลเรือนมาเป็นทหารนั้น จะพบว่ามีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการฝึกให้มีความทนทานต่อยากลำบากเป็นพื้นฐานลำดับแรกๆ สำหรับคนที่จะเป็นทหารทุกคน

ดังจะเห็นได้จาก รร.ทหาร ที่ทำหน้าที่ผลิตกำลังพลให้กับกองทัพในทุกระดับ(รร.นายร้อย – รร.นายสิบ) ล้วนแต่มีระบบและกระบวนการที่คอยคัดกรองผู้ที่มี ความอดทน อดกลั้น และการเผชิญกับปัญหาในเรื่องต่างๆ ในระดังที่ต่ำออกไป ซึ่งระบบเหล่านี้จะช่วยเปลี่ยนนักเรียนที่เป็นพลเรือนภายนอกให้กลายมาเป็นทหารตามที่กองทัพต้องการ ส่วนบุคคลอื่นๆ ที่เข้ามาเป็นทหารในกองทัพโดยมิได้ผ่าน รร.ทหาร ก็จะมีช่องทางหรือกระบวนการอื่นรองรับ เช่น การฝึกให้ข้าราชการกลาโหมพลเรือนก่อนที่จะทำการประดับยศ

ส่วนคนที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในสนามรบหรือเกี่ยวพันกับการรบนั้นต้องได้รับการฝึกฝนเพิ่มเติม เพื่อให้กองทัพมีความมั่นใจได้ว่ากำลังพลที่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ในการรบมีความอกทนต่อความยากลำบาก มีขีดความสามารถในการที่จะเผชิญอุปสรรคต่างๆ นาๆ และสามารถที่จะผ่านพ้นอุปสรรคเหล่านั้นไปได้ ถ้าเขาเหล่านั้นสามารถผ่านพ้นความยากลำบากที่เกิดขึ้นจริงใน สนามรบ เช่นหลักสูตรทางการรบพิเศษต่างๆ อย่าง หลักสูตรของ ทบ. เช่น หลักสูตรจู่โจม หลักสูตรของ ทร.เช่น หลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หลักสูตรการรบพิเศษ แขนงการลาดตระเวนสะเทินน้ำสะเทินบก และจู่โจม นย. และหลักสูตรของ ทอ. เช่น หลักสูตรปฏิบัติการพิเศษ

วันนี้สภาพการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและนวัตกรรมได้สร้างความสะดวกสบายให้กับเราผู้ซึ่งเป็นมนุษย์ทุกคน ในทุกอาชีพแต่อยากไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะมีเครื่องที่ทันสมัยเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าเราไม่มีคนที่มีความอดทน เราไม่มีคนที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค์ เราไม่มีคนที่ทนทานต่อปัญหา แล้วสังคมคงจะไม่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมีดีและมีประสิทธิภาพ และจะยิ่งแย่หนักเข้าไปอีกถ้า เราไม่มีทหารที่มีความอดทน เราไม่มีทหารที่พร้อมจะเผชิญกับความยากลำบาก เราไม่มีทหารที่มีความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อแล้ว กองทัพไทยคงจะยุบตัวลงและประเทศชาติก็จะขาดหลักประกันด้านการป้องกันประเทศและคงดำรงอยู่ไม่ได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นแล้ว ทหารอาชีพจึงต้องมีความสามารถในการแก้ปัญหา หรือ มี AQ ในระดับที่สูง

และทหารอย่างท่านล่ะครับคิดว่ามี AQ ในระดับที่มากน้อยเพียงใด…..

อ้างอิง
[1] มัณฑรา ธรรมบุศย์, “AQ กับความสำเร็จของชีวิต” วารสารวิชาการ ปีที่ 4,9 ( ก.ย. 2544) หน้า 12-17.
[2] ibid.
[3] http://www.sutenm.com/tag/aq.

ไม่มีความคิดเห็น: