พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับ "ความรู้"

“...ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดถือเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้ความรู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔

วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2552

การจัดการความรู้คืออะไร อย่างไร และทำไม

การจัดการความรู้คืออะไร อย่างไร และทำไม

สุภาคย์ อินทองคง ศูนย์เรียนรู้ชุมชนภาคใต้ (ศรช.)

ปัจจุบันนี้มีกระแสสังคมกระแสหนึ่งที่เริ่มจะพูดถึงกันมากขึ้น คือ กระแสเรื่อง การจัดการความรู้ (Knowledge Management KM.) ใครเป็นผู้ปลุกกระแสนี้ขึ้นมาเมื่อใด ที่ไหน ไม่มีข้อมูลในมือ แต่กล่าวเฉพาะในเมืองไทย คนที่พูดถึงเรื่องนี้คนหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์พานิช อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการวิจัย (สกว.) และปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันการส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

อีกกระแสความคิดหนึ่ง และก็ดูจะเกิดขึ้นมาพร้อมกัน คือ กระแสความคิดเรื่อง การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ หรือ สังคมแห่งปัญญา เพราะเชื่อกันว่าโลกในศตวรรษที่ 21 (แห่งคริสต์ศตวรรษ) นี้จะเป็นช่วงเวลาที่สังคมโลกจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมแบบนั้น ซึ่งว่ากันว่า เป็นช่วงเวลาที่ต่อจากสังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร ก็จะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมข่าวสารนั้นเกิดจากฐานทางเทคโนโลยี การสื่อสารที่ก้าวไกลจนก่อให้เกิดภาวะโลกไร้พรมแดน การจะอยู่ในโลกไร้พรมแดนได้ ผู้คนในสังคมต้องใฝ่รู้ มิฉะนั้น จะสู้เขา ที่รู้กว่า คือ รู้ดีกว่า รู้มากกว่าไม่ได้ จึงจำเป็นจะต้องลุกขึ้นมาแสวงหาความรู้ จึงจะสู้เขาได้ นำเขาได้

อันที่จริง การแสวงหาความรู้นั้น มีความจำเป็นต่อมนุษย์ทุกคน และทุกกลุ่มมาตลอดเวลา แต่ที่มากระตุกกันตอนนี้ เพราะเกิดยุคข้อมูลข่าวสารที่ไร้พรมแดน การขนส่งไร้พรมแดน เกิดการค้าเสรีระหว่างประเทศ กลุ่มประเทศ การไหลเวียนของข่าวสารของเงินตรา อะไรต่ออะไร ไหลได้เร็วขึ้น และเร็วมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ การเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ก็จะเร็วมากโดยเฉพาะด้านธุรกิจการค้าจึงจำเป็นต้องติดตามข้อมูลข่าวสารการ เปลี่ยนแปลงนั้น ๆ อยู่ตลอดเวลาและที่ลึกลงไปกว่านั้น สนามการแข่งขันก็กว้างขึ้น ใหญ่ขึ้น ใครรู้ได้ รู้ดี รู้ทัน รู้ทั่ว รู้เท่า ก็มีโอกาสชนะในสนามแข่งขันมากขึ้น

จากภาวะดังกล่าวนี้ จึงผลักดันให้เกิดกระแสที่เรียกว่า สังคมแห่งการเรียนรู้ และกระแสแห่งการจัดการความรู้ เกิดขึ้น และกล่าวถึงกันมากขึ้นในวงการวิชาการและวงการชุมชนคนชอบการเรียนรู้

อย่างเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2548 ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปพูดคุยเรื่องสัจจะวันละ 1 บาท ร่วมเวทีกับ ดร. ครูชบ ยอดแก้ว เจ้าของความคิดเรื่องนี้ ก็ต้องพูดถึง 2 เรื่องนี้ด้วย คือ การจัดการความรู้และสังคมแห่งการเรียนรู้ เพราะเรื่องการจัดตั้งกองทุนสัจจะวันละ 1 บาท ก็ต้องยกเรื่องนี้มาพูดถึง เช่นกัน เพราะเจตนารมณ์ส่วนลึกของ กองทุนสัจจะวันละ 1 บาท คือ การใช้เงินเป็นเครื่องมือพัฒนาคน และเมื่อพูดถึงการพัฒนาคนก็หนีไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงความรู้ หรือปัญญา เพราะคนจะเจริญได้ ดำรงตนอยู่ได้ ต้องมีความรู้เป็นปัจจัยหลัก จะกิน จะดื่ม จะเดิน จะนั่ง จะนอน เป็นต้น ก็ต้องอาศัยความรู้เป็นฐานทั้งสิ้น มิฉะนั้น เราจะทำอะไรไม่ถูก และทำอะไรไม่ได้เลย รู้ถูก รู้ดี รู้ลึก รู้แท้ รู้ทั่ว เป็นต้น รู้ในเรื่องใดเป็นพิเศษ ก็จะมีประโยชน์มากเป็นพิเศษ ความรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ในแง่มุมของทรัพย์สิน ความรู้เราเรียกว่า เป็นทรัพย์สินทางปัญญา เป็นของดี มีทั้งคุณค่า และมูลค่า ในหลักคำสอนทางศาสนา เช่น พุทธศาสนามองว่า ปัญญา คือ ทรัพย์อันประเสริฐ เป็นหนึ่งในอริยทรัพย์ 7 ประการ คือ ศรัทธา ความเชื่อในเหตุผล ศีล การสำรวม ระวังกายวาจา หิริ การละอายต่อบาป โอตัปปะ ความแกรงกลัวต่อบาป พาหุสัจจะ ความเป็นพหุสูตร จาคะ ความ เสียสละและปัญญา ความรู้แจ้ง ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์ที่เราต้องแสวงหามาไว้กับตน หรือทำให้เกิดขึ้นในตนในหลักการศึกษาของพุทธก็เสนอว่า จะต้องเข้าสู่ระบบปัญญา คือ ระบบพัฒนาตนให้เกิดความรู้จัก รู้จำ รู้จริง และรู้แจ้ง

จะเห็นว่า เรื่องความรู้ หรือปัญญานี้ มีการให้ความสำคัญมานานแล้ว มาถึงยุคนี้ก็มีการมองเห็นสาระส่วนนี้ พูดถึงเรื่องนี้กันมากขึ้น ทั้งในวงการศึกษา วงนักวิชาการในระดับอุดมการณ์ศึกษาถึงประถม และระดับปัญญาชนถึงคนธรรมดาในชุมชนที่สิ่งต่าง ๆ เข้าถึง ก็จะได้รับรู้เรื่องนี้ ถามว่า การจัดการความรู้ คืออะไร จะจัดการกันอย่างไร และจะจัดการไปทำไม?

คำตอบ คำถามสุดท้ายที่ว่า จะจัดการไปทำไม ดูเหมือนจะไม่ต้องขยายความแล้ว เพราะได้อธิบายไปแล้วในตอนต้น คือ เพราะความรู้เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ มนุษย์อยู่รอดปลอดภัยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ เจริญก้าวหน้าได้ อาศัยความรู้ทั้งนั้น ส่วนคำถามแรกที่ว่า การจัดการความรู้ คืออะไร? นั้น อาจตอบได้หลายแนว เช่น คำตอบในเชิงวิชาการ หรือ เชิงความรู้ ก็อาจบอกว่า การจัดการความรู้ คือ กระบวนการที่มนุษย์ได้เพียรพยายามตอบคำถามตามข้อสงสัยของตนจนรู้ว่าอะไรเป็น อะไร แล้วนำความรู้นั้น ๆ มาจัดเก็บและนำออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิตของตน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม จะเห็นได้ว่า ถ้าดูที่โครงสร้างของคำตอบนี้ จะมีแกนที่เป็นส่วนประกอบหลักอยู่ 4 ส่วน คือ หนึ่ง ผู้สร้างความรู้ คือ คน สอง องค์ความรู้ คือ สิ่งที่มนุษย์ค้นพบ หรือสร้างขึ้น สาม การนำความรู้นั้นมาใช้โดยตรงต่อชีวิต สี่การนำมาประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป คือ เทคโนโลยีต่าง ๆ


เมื่อดูตามสาระนี้ก็อาจเขียนเป็นโครงสร้างให้เห็นเป็นผังมโนทัศน์ได้ ดังนี้

คน = ผู้สร้าง / ผู้ผลิตความรู้ องค์ความรู้ = ผลการสร้าง / ผลผลิต การใช้ความรู้ 1 = การบริโภคผลผลิตโดยตรง การใช้ความรู้ 2 = การนำความรู้เพื่อผลิตสิ่งอื่นต่อ (เทคโนโลยี) คน = ผู้บริโภคความรู้ / ผลผลิต

จะเห็นได้ว่า การจัดการความรู้นั้น เป็นกระบวนการเหมือนกับการจัดการเครื่องอุปโภคบริโภค เช่น การจัดการโรงงานอุตสาหกรรม จัดการองค์กรผลิตสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งว่ากันว่า ต้องมีองค์ประกอบ 4 คือ คน (Man) เงิน (Money) วัตถุดิบ (Material) และการจัดการ (Management) ตัวหลังสุด คือ การจัดการนั้นแหละเป็นตัวที่บ่งชี้การจัดการความรู้ คือ ต้องมีความรู้ในเรื่องการจัดการคน เงิน ของหรืองาน จึงจะบริหารจัดการ กิจกรรมนั้น ๆ ลุล่วงไปได้ด้วยดี ทีนี้มาดูต่อไปอีกนิดว่าการจัดการความรู้นั้น เขาทำกันอย่างไร เมื่อดูสาระตามนิยามข้างต้น ก็พอจะเห็นภาพได้ว่า ที่ว่าการจัดการความรู้นั้น ทำอย่างไร

จัดการโดยปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างน้อย 4 ขั้น ดังนี้

1.การแสวงหาความรู้ หรือสร้างความรู้ หมายถึงการหยิบฉวย หรือรับมาจากแหล่งความรู้ที่มีผู้ค้นหา หรือสร้างไว้ให้แล้ว เช่น ความรู้ในตำรา หรือความรู้จากผู้รู้ ส่วนการสร้างความรู้นั้น หมายถึง การลงมือสืบค้น หรือทดลองปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อดูว่าอะไรเป็นอะไร อย่างที่เรียกกันว่า การค้นคว้าวิจัย หรือ การปฏิบัติการทดลอง จนได้ข้อสรุปว่าอะไร เป็นเหตุ อะไรเป็นผล เป็นต้น ขั้นนี้อาจเรียกว่า การจัดการให้เกิด

2.การจัดเก็บองค์ความรู้แสวงหาและค้นคว้า วิจัย มาได้ให้เป็นชุดเป็นระบบ เป็นระเบียบให้สะดวกเก็บสะดวกใช้ ให้เป็นหมวดหมู่ ไม่ยุ่งยากต่อการเก็บรักษาและใช้สอย ใครต้องการบริโภค หรือใช้ก็สามารถ ค้นคว้าหยิบฉวยไปใช้งานได้ ขั้นนี้อาจเรียกว่า การจัดการให้เก็บ

3.การเลือกใช้องค์ความรู้ที่แสวงหาหรือสร้างได้ และจัดเก็บไว้นั้น ให้เหมาะสมกับเรื่องกับกาละและเทศะ กับบุคคลกับชุมชน กับสถานการณ์กับปรากฏการณ์ เป็นต้น จนบรรลุผลตามที่คาดหวังได้ดี ขั้นนี้อาจเรียกว่า การจัดการให้ก่อ

4.การนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ และเลือกสรรคัดสรรค์ดีแล้วนั้น มาเป็นเครื่องมือในการสร้างสิ่งใหม่ ที่เป็นประโยชน์และกลุ่มชุมชนและเพื่อนมนุษย์ที่กว้างขวางยิ่งขึ้น จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า นวัตกรรม คือ ของใหม่ ๆ ขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการขยายอินทรีย์ เป็นต้น ของมนุษย์ได้มากขึ้น เช่น การผลิตแว่นตา รถยนต์ เป็นต้น ขั้นนี้อาจเรียกว่า การจัดการให้ก้าว

เมื่อนำเอาขั้นตอน ทั้ง 4 ขั้นมาต่อกัน ก็จะเห็นภาพชัดเจนว่า การจัดการความรู้นั้น ทำอย่างไร คำตอบคือ การจัดการให้เกิด การจัดการให้เก็บ การจัดการให้ก่อ และการจัดการให้ก้าว แต่ละขั้นก็ต้อง จัดการ และต้องจัดการให้ครบทั้ง 4 ขั้น จึงจะก่อประโยชน์สูงสุด และกว้างขวางได้ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ ชุมชนแห่งปัญญา จะเกิดได้ ถ้านำกลวิธีการจัดการความรู้ที่กล่าวข้างต้นมาใช้ ปัจเจกบุคคลก็เป็นบุคคลเรียนรู้และเป็นปัญญาชนได้ ถ้าได้นำเอาวิธีการจัดการความรู้ทั้ง 4 ขั้นมาใช้ กลุ่มสัจจะทุกกลุ่มก็จะเจริญได้ สมาชิกทุกคนก็เจริญได้ ถ้านำเอาวิธีการจัดการความรู้ทั้ง 4 ขั้นมาใช้

สรุป
การจัดการ ความรู้ มีผู้บอก เป็นขอบนอกของใน เราไม่สน เรารู้จัก ความรู้ ทุกผู้คน ช่วยพาตน รอดได้ สบายทรวง ตั้งแต่เล็ก จนโต เราโง่เขลา เรื่องหนักเบา เราเรียนได้ ไม่ต้องห่วง จนรู้จัก รู้จำ นำกลลวง ได้ลุล่วง พ้นทุกข์ สุขกายใจ มาวันนี้ ผู้รู้ เขาชูเชิด เขามาเปิด ให้เห็น เป็นเงื่อนไข ว่าความรู้ ต้องจัดการ ให้ก้าวไกล ทำอย่างไร จะรู้ได้ คลายกังวล เมื่อคิดดู รู้ชัด ไม่ขัดจิต คงไม่ผิด ความจริง สิ่งเป็นผล การจัดการ ความรู้ ของผู้คน ต้องอยู่บน สี่ ก (กอ) ควรพอใจ หนึ่ง ก เกิด คือ จัดการ ประสานกิจ ประสานคิด ประสานทำ นำสดใส จนรู้จัก รู้จริง สิ่งใดใด ใคร เป็นใคร รู้แจ้ง ด้วยแรงเรา สอง ก เก็บ เหน็บกิจ พินิจนึก รู้ตื้นลึก เก็บไว้ ไม่อับเฉา เป็นกองทุน ทางปัญญา หาเครื่องเครา เป็นสำเภา ช่วยเดินทาง สว่างใจ สาม ก ก่อ ต่อทาง สร้างความคิด ช่วยเสริมกิจ เสริมทำ นำสดใส ให้คิดถูก ทำถูก ปลูกเนื้อใน ชีพปลอดภัย เพราะรู้ ชูกำลัง สี่ ก ก้าว สาวเรือง รุ่งเรืองกิจ รู้พินิจ รู้แนวฝึก ที่นึกหวัง สร้างสิ่งใหม่ ใจคิด ติดพลัง ความรู้ตั้ง ต่อยอด ตลอดเอย


สุภาคย์ อินทองคง 6 กันยายน 2550
http://www.southhpp.org/paper/1677

ไม่มีความคิดเห็น: