พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับ "ความรู้"

“...ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดถือเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้ความรู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔

วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

วิธีสอนธรรมของ ‘พระบรมครู’



เดือนมกราคม นอกเหนือจากเป็นเดือนแรกของปีแล้ว ยังมีวันสำคัญเนื่องถึงกันอยู่สองวัน คือ วันเด็กแห่งชาติ และวันครูแห่งชาติ ดังนั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณของครูอันหาที่สุดมิได้ จึงจะขอนำวิธีการสอนธรรมของพระบรมครูของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย นั่นก็คือ พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงมีกลวิธีในการสอนธรรมะหลากหลายแบบที่สามารถทำให้พุทธบริษัทตรัสรู้ธรรมได้
วิธี การของพระองค์นั้นเริ่มจากการพิจารณาถึงอุปนิสัยใจคอ และจริตของผู้ที่ทรงสั่งสอนว่า มีพื้นฐานการเรียนรู้มากน้อยแค่ไหน ทรงหยั่งรู้ถึงการสั่งสมบารมีในชาติก่อนอย่างไร และธรรมะใดเหมาะแก่ อุปนิสัยของผู้ฟัง เป็นต้น

ทรงสอนคนโง่ที่สุดให้บรรลุธรรม
เรื่องมีอยู่ว่า พระจูฬปันถกเป็นผู้มีปัญญาทึบ พระมหาปันถก ผู้เป็นพี่ชายสอนให้ท่องคาถา แค่คาถาเดียวนานถึงสี่เดือนก็จำไม่ได้ จึงไล่ให้ออกไปนอกกุฎี พระจูฬปันถกน้อยใจร้องไห้คิดจะสึก พระพุทธเจ้าทรงทราบความ จึงตรัสเรียกมาปลอบโยน แล้วประทานผ้าขาวผืนหนึ่งให้ลูบคลำพร้อมบริกรรมว่า "ผ้าเช็ด ธุลี ผ้าเช็ดธุลี" นั่งคลำไปๆ ผ้าก็เศร้าหมอง จึงน้อมมา เปรียบเทียบกับตนว่า "สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ"
พระพุทธเจ้าทรงตักเตือนว่า "จูฬปันถก เธออย่าหมายแต่ว่าผ้านั้นอันธุลีย้อมให้เศร้าหมอง ยัง มีธุลีคือราคะที่มีอยู่ในใจของเธอ เธอจงชำระมันเสียด้วย" แล้วตรัสพระคาถาเป็นต้นว่า "ราคะเราเรียกว่า ธุลี ธุลีเรากล่าวว่าฝุ่นละอองก็หามิได้ คำว่าธุลีนี้เป็นชื่อแห่งราคะก็มี"
ในที่สุดแห่งการตรัสพระคาถาทั้งหลายเหล่านั้น พระจูฬปันถกก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา แตกฉานในพระไตรปิฎก การที่ท่านได้บรรลุธรรมอย่างง่ายนี้ เพราะในอดีตชาติท่านเกิดเป็นพระราชา ขณะที่เสด็จประทักษิณเลียบพระนคร พระเสโทหลั่งไหลจากพระนลาฏ พระองค์ทรงใช้ผ้าขาวบริสุทธิ์เช็ดพระเสโท ทำให้ผ้าเศร้าหมอง ทรงดำริว่า ผ้าขาวซับเหงื่อเพียงเล็กน้อยก็เศร้าหมองแล้ว สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงหนอ จึงเป็นปัจจัยให้ท่านบรรลุธรรมในชาตินี้
ขณะที่พระมหาปันถกไม่ทราบอัธยาศัย และบารมี ธรรมของพระจูฬปันถก ที่ได้สั่งสมมาแต่อดีตชาติ จึง ไม่สามารถสอนได้ แต่พระพุทธองค์ทรงสอนเพียงครู่ เดียว พระจูฬปันถกก็ตรัสรู้ธรรมได้อย่างน่าอัศจรรย์
ครูที่สอนนักเรียนแล้วนักเรียนไม่เข้าใจ โปรดอย่า คิดว่านักเรียนโง่ แต่ครูเองไม่ฉลาดในการสอนใช่หรือไม่?

การสอนโดยกุศโลบาย หนามยอกเอาหนามบ่ง
มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จทรงโปรดพระพุทธบิดา ณ กรุงกบิลพัสดุ์ พระองค์ได้พาพระนันทะ พระอนุชาต่างพระมารดา ผู้กำลังจะอภิเษกสมรสกับนางชนบทกัลยาณี เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา พระนันทะนั้นไม่ได้บวชเพราะศรัทธา วันๆจึงมัวแต่ คิดถึงคนรัก จนไม่เป็นอันทำความเพียรเพื่อบรรลุ ธรรม เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงพาพระนันทะไปสู่ดาวดึงส์เทวโลก ระหว่างทางเสด็จทรงชี้ให้พระนันทะดูนางลิงตัวหนึ่ง มีหู จมูก และหางขาดวิ่น นั่งอยู่บนตอไม้ที่ไฟไหม้ในท้องนาแห่งหนึ่ง เนื้อตัวมอม แมมไปด้วยเถ้าถ่าน และเมื่อมาถึงชั้นดาวดึงส์ทรงชี้ให้ดูนางอัปสร ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าแดงดุจเท้านกพิราบ
พระพุทธเจ้าตรัสถามพระนันทะว่า นางอัปสร ๕๐๐ กับนางชนบทกัลยาณี ใครงามกว่ากัน
พระนันทะกราบทูลว่า นางชนบทกัลยาณีก็เหมือน นางลิงบนตอไม้ ไม่ได้เสี้ยวหนึ่งของนางอัปสรเลย
พระพุทธองค์ตรัสต่อว่า "ถ้าเธอยินดีในนางอัปสร กว่านั้น จงประพฤติพรหมจรรย์ให้ถึงที่สุด แล้วเราจะ ประทานนางอัปสรแก่เธอ" พระนันทะดีใจมากรีบรับพระพุทธดำรัส
ต่อมาบรรดาภิกษุต่างพูดกันไปทั่วว่า พระนันทะประพฤติพรหมจรรย์เพราะต้องการนางอัปสร ไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์เพราะศรัทธา จึงทำให้ท่านเกิดความอาย และตั้งใจประพฤติธรรม พิจารณาจิตของตนว่า มีแต่ความรักไม่สิ้นสุด เห็นใครสวยก็รักเรื่อยไป เกิดสังเวชสลดใจ จึงได้บรรลุพระอรหัตผล
เรื่องนี้แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงใช้กุศโลบายอันแยบคาย ล่อให้พระนันทะประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อ บรรลุแล้วก็ไม่ต้องประทานรางวัลแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะพระนันทะไม่ทราบมาก่อนว่า พรหมจรรย์นั้นเป็นการตัดขาดจากความต้องการทางโลกิยวิสัย

ทรงสอนโดยใช้วิธีอุปมาอุปไมย
ทรงสอนด้วยวิธีอุปมาอุปไมย เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย และเข้าใจง่าย และมีผลต่อจิตของผู้ถูกสอน เช่น ตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย เธอเห็นสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง ในเวลาใกล้รุ่งราตรีหรือไม่?"
"ได้เห็นพระเจ้าข้า"
"สุนัขจิ้งจอกตัวนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย เวลามันเป็นโรคเรื้อน ซึ่งเกิดในฤดูหนาว เมื่อโรคเกิดขึ้นแล้วขนของมันหลุดร่วงไปสิ้น ตัวของมันซึ่งปราศจากขนนั้น เป็นแผลพุพองโดยรอบ แผลนั้นครั้นถูกลมโกรก ก็ทำให้กำเริบหนัก มันวิ่งไปบนบกก็ไม่รู้สึกยินดี หรือไปที่โคนไม้ ไปในที่แจ้ง ก็ไม่รู้สึกยินดี จะยืน เดิน นั่ง นอน ใดๆ ก็ถึงความวิบัติในที่นั้นๆ ฉันใด
ภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้น อันลาภ สักการ ชื่อเสียง ครอบงำรัดรึงตรึงจิตแล้ว ไปสู่เรือนว่างเปล่า ก็ไม่รู้สึกยินดี ไปที่โคนไม้ หรือไปในที่แจ้ง ก็ไม่รู้สึกยินดี จะยืน เดิน นั่ง นอน ในที่ใดๆ ก็ถึงความวิบัติในที่นั้นๆ เพราะเหตุนั้นแล พวกเธอจงสำเหนียก อย่าให้ลาภ สักการ ชื่อเสียง ครอบงำจิต ตั้งอยู่ได้"

ความเป็นพระบรมครู คือ การไม่ปิดบังความรู้แก่พระสาวก
ใน พระมหาปรินิพพานสูตรมีคำกราบบังคมทูลของพระอานนท์ตอนหนึ่งว่า เมื่อพระองค์ทรงพระประชวรนั้น ร่างกายจิตใจของข้าพระองค์นั้นระงมไปทุกทิศานุทิศย่อมไม่ปรากฏ แต่กระนั้นก็ยังอุ่นใจได้หน่อยหนึ่งว่าพระองค์ยังมิได้ตรัสเรื่องปรินิพพาน
พระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนท์ว่า "ดูกร อานนท์ สงฆ์จะหวังอะไรในตัวเราอีกเล่า ธรรมอันเราแสดงแล้ว ไม่มีภายนอกไม่มีภายใน ความซ่อนเร้นธรรม ย่อมไม่มีแก่เรา"
เพราะฉะนั้น ถ้าครูทั้งหลายสอนโดยไม่ปิดบังความรู้ ก็จะเป็นผลดีต่อเด็กไทยเราอย่างยิ่ง


ที่มา http://www.manager.co.th/

ไม่มีความคิดเห็น: