พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับ "ความรู้"

“...ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดถือเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้ความรู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔

วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2551

เลี้ยงเด็กให้เป็นคนดี

ไม่บ่อยครั้งนักที่จะได้เห็น ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เขียนบทความที่ไม่ใช่บทความวิพากษ์วิจารณ์การเมือง ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ ฉบับวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๑ อาจารย์ชัยอนันต์ได้เขียนบทความเรื่อง "เลี้ยงเด็กให้เป็นคนดี" โดยอาศัยประสบการณ์การเลี้ยงดูบุตร-ธิดา ของท่านเอง บทความนี้น่าสนใจ และมีข้อคิดที่ดี เผื่อสมาชิก Blog KM จะได้นำประสบการณ์ของอาจารย์ชัยอนันต์ไปใช้บริหารครอบครัวและเลี้ยงดูลูกของท่านได้


เลี้ยงเด็กให้เป็นคนดี

ชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้จัดการออนไลน์ 2 มีนาคม 2551

ผมมีลูก 3 คน เป็นฝาแฝดชาย-หญิง และคนเล็กเป็นชาย คนเล็กเพิ่งแต่งงานไปเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมนี้เอง โบราณว่าเป็นฝั่งเป็นฝากันหมดแล้ว ผู้ใหญ่ที่ไปงานบอกว่า เรามีบุญที่มีลูกๆ ดีทุกคน เหมือนกับแต่ก่อนที่ใครๆ พูดว่าพ่อ-แม่ผมมีลูกดีทุกคน

การมีลูกดีคงหมายถึง ลูกซึ่งมีความประพฤติดี มีการงานทำเป็นหลักเป็นฐาน การเลี้ยงลูกให้ดีนั้น เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน แต่ละครอบครัวมีวิธีการเลี้ยงดูอบรมต่างกัน

ตามประสบการณ์ของผม การเลี้ยงลูกให้ดีนั้นต้องเริ่มตั้งแต่ลูกอยู่ในท้องแม่ ป้าครูหรือคุณครูเนี้ยน สโรชมาน ชอบบอกผมว่า ผมจะต้องเป็นเด็กดี เพราะแม่ผมนั้นเวลาท้องผม ก็กินแต่ผักเพื่อให้ผมเติบโตมาแข็งแรง และฉลาดมีสุขภาพอนามัยดี คนสมัยใหม่บางคนเปิดเพลงให้เด็กในท้องฟังด้วย นัยว่าเป็นการกล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยน

เมื่อเด็กเกิดมาแล้วพอรู้ความก็จะได้รับการสั่งสอนอบรม ทั้งความประพฤติและมารยาท นอกจากนั้น ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกที่ผมอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับท่านผู้อ่านคือ

1. การเล่านิทานก่อนนอน เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเด็กได้เรียนรู้หลายอย่าง การเรียนรู้ด้วยการเล่าเรื่องเป็นวิธีการสอนที่สนุกและเพลิดเพลิน ผมนอนกับย่า ย่าผมมีเรื่องเล่าเยอะแยะ ตั้งแต่นิทานจักรๆ วงศ์ๆ ไปจนถึงเรื่องที่ย่าแต่งเองก็มี
2. อย่าสอนให้เด็กมีความอิจฉาริษยา หากมีพี่น้องก็อย่าเปรียบเทียบ โตขึ้นเด็กจะมีจิตใจไม่ดี
3. อย่าขู่เด็ก แต่ควรหาเหตุผลมาพูดกับเด็ก เวลาต้องการให้เด็กทำอะไร ควรพูดจาหว่านล้อมมากกว่าการข่มขู่หรือหลอก
4. ผู้ใหญ่ควรรักษาอารมณ์ให้คงเส้นคงวา อย่าตำหนิหรือลงโทษเด็กด้วยการใช้อารมณ์ หรือการประชดประชัน
5. แม้จะมีปัญหาครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาระหว่างสามี-ภรรยา ปัญหาการเมือง ปัญหาการงาน ก็ไม่ควรนำมาพูดให้เด็กฟัง
6. เมื่อเด็กโตขึ้น พ่อ-แม่ควรอยู่บ้านอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา โดยเฉพาะเวลาอาหารเย็น และมีเวลาว่างที่พาลูกไปเที่ยว
7. ควรพาลูกไปงานตามสมควร อย่างน้อยก็ไปบ้านญาติหรือไปร่วมงานที่เด็กไปได้ จะเป็นการสอนให้เด็กรู้จักวางตัวเข้าสังคม
8. ไม่ควรให้รางวัลเด็กอย่างพร่ำเพรื่อ หรือมากจนเกินไป การที่เด็กประพฤติดี เรียนดี ถือว่าเป็นการทำหน้าที่อยู่แล้ว
9. ไม่ควรให้เงินเด็กมากเกินไป
10. ควรสอนเด็กด้วยการทำตัวเป็นแบบอย่าง หากไม่ต้องการให้ลูกเล่นการพนัน สูบบุหรี่ กินเหล้า พ่อ-แม่ก็ต้องละเว้นจากอบายมุขเหล่านี้ด้วย
11. พ่อแม่ต้องพาเด็กไปวัดไปหาพระ และประกอบพิธีทางศาสนา
12. ที่บ้านควรมีตู้หนังสือ สอนการรักการอ่านให้กับเด็ก การอ่านหนังสือเป็นการสร้างสมาธิและการคิด
13. การที่จะทำให้เด็กมีจิตใจดี มีเมตตากรุณานั้น ไม่มีอะไรดีไปกว่าการให้เด็กมีสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัข (ลูกๆ ผมรักสุนัขมาก โดยเฉพาะคนเล็กชอบเก็บหมามาเลี้ยง เวลาไปเล่นกอล์ฟก็ชอบซื้อขาไก่ และขนมต่างๆ ให้หมากิน) การเลี้ยงหมามีผลต่อการสร้างความเมตตา และทำให้จิตใจอ่อนโยนยิ่งกว่าการฟังหรือเล่นดนตรี เพราะการเลี้ยงหมาเป็นปฏิสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิต
14. ควรหางานอดิเรกให้เด็กทำ เพราะเป็นการสอนการใช้เวลาว่างที่ดี
15. ควรสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก โดยยกตัวอย่างผู้มีความดี หรือประสบความสำเร็จให้เด็กอยากเอาอย่าง
16. ควรสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้เด็ก ให้เด็กทำสิ่งที่ง่ายไปหายาก และคอยให้กำลังใจ ไม่ตำหนิหากเด็กมีความผิดพลาด
17. สอนให้เด็กมีสัมมาคารวะ มีความอ่อนโยน แต่ก็มีจิตใจที่เข้มแข็ง
18. ให้เด็กรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไม่เห็นแก่ตัว
19. ไม่สนับสนุนให้เด็กชอบความหรูหรา ฟุ่มเฟือย หรือนิยมวัตถุสินค้าราคาแพง
20. สอนให้เด็กเข้าใจว่า การตรงต่อเวลามีความสำคัญ
21. สอนให้เด็กตระหนักถึงความซื่อสัตย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
22. สอนให้เด็กมีความอดทนในการทำงาน และทำงานอย่างมีคุณภาพ
23. สอนให้เด็กรู้จักการแบ่งเวลา
24. สอนให้เด็กมีวินัยในตนเอง ควบคุมตัวเองได้ ใช้เวลาในทางที่เป็นประโยชน์
25. สอนให้เด็กมองโลกในแง่ดี รู้จักอุเบกขา และการให้อภัย ไม่ผูกใจเจ็บอาฆาตคน แต่ต้องรู้จักระมัดระวังตัว หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และความรุนแรง
26. สอนให้เด็กรู้จักเสียสละ และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว
27. พาเด็กไปเที่ยวในสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อม และธรรมชาติที่สวยงาม เพื่อย้อมใจให้เกิดความรักในธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
28. เวลาเด็กทำผิด หากไม่ใช่ความผิดที่ร้ายแรงก็เพียงแต่ตักเตือน การตักเตือนอาจใช้เพียงภาษากายก็พอ ไม่จำเป็นต้องดุด่าว่ากล่าว หากเด็กรู้ตัวว่าผิดแล้วก็ไม่ควรซ้ำเติม
29. ให้ความไว้วางใจแก่เด็ก ไม่ใช่เอาแต่ห้ามหรือคอยระแวดระวังจับผิด
30. ให้ความเป็นเพื่อนกับเด็ก

ทั้ง 30 ข้อนี้เป็นประสบการณ์ที่ผมได้จากครอบครัว และผมใช้ปฏิบัติต่อลูก รวมไปถึงเด็กนักเรียนวชิราวุธ ในขณะที่ผมเป็นผู้บังคับการอยู่ด้วย เป็นการเลี้ยงดูอบรมเด็กที่บางคนอาจเห็นว่า “อ่อน” เกินไป เพราะไม่มีการบังคับจ้ำจี้จ้ำไช แต่เด็กๆ ที่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยแบบนี้ จะมีความไว้วางใจผู้อื่น มีวินัยในตนเอง เกรงกลัวบาป มีความเป็นอิสระ มีจิตใจดี โอบอ้อมอารี ไม่เห็นแก่ตัว มีความเมตตากรุณา
ผมไม่แน่ใจว่า ผู้ที่ผ่านการเลือกตั้งเข้ามาปกครองประเทศ จะเคยเป็นเด็กที่ได้รับการปฏิบัติเช่นนี้หรือไม่ ผมเห็นว่าพฤติกรรมของคนเราสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตวัยเด็ก การเอาใจใส่เด็ก และอบรมบ่มนิสัยให้ดีจึงสำคัญมากกว่าสิ่งอื่นใด

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000025760

ไม่มีความคิดเห็น: