พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับ "ความรู้"

“...ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดถือเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้ความรู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔

วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

มองมุมใหม่ :คุณค่า ความเชื่อ และแรงจูงใจของผู้นำที่ดี

มองมุมใหม่ :คุณค่า ความเชื่อ และแรงจูงใจของผู้นำที่ดี

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ 20 มีนาคม พ.ศ. 2550

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ในสัปดาห์นี้ เราจะมาดูกันต่อนะครับว่า จะเป็นผู้นำแบบ Authentic ได้ จะต้องประกอบด้วยปัจจัยใดอีกบ้าง

ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งของผู้นำแบบ Authentic คือจะต้องประกอบด้วย ความมุ่งมั่นต่อความสำเร็จ รวมทั้งมีค่านิยม (Value) ความเชื่อ หรือทัศนคติที่ดีและเหมาะสมด้วย อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญคือเรามักจะไม่ค่อยรับรู้ถึงค่านิยม ความเชื่อที่แท้จริงของตัวเราจนกระทั่งเกิดปัญหาหรือวิกฤติขึ้นครับ

ในขณะที่สถานการณ์ทุกอย่างกำลังไปด้วยดี งานทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น เราอาจจะเขียนพวกค่านิยมและความเชื่อที่เราคิดว่าเรามีอยู่ได้อย่างไม่ยากเย็น โดยค่านิยมและความเชื่อเหล่านั้นก็มักจะออกมาในรูปแบบที่ดี ตามที่เราต้องการ แต่เมื่อใดก็ตามที่อาชีพ หรือการงาน หรือฐานะ ของเราเริ่มมีปัญหา เมื่อนั้นแหละครับที่ค่านิยมและความเชื่อที่แท้จริงของเราจะปรากฏออกมา

ท่านผู้อ่านลองนึกสมมติภาพดูนะครับว่า ถ้าที่องค์กรของท่านจะต้องมีการลดพนักงานลง และชัดเจนแล้วว่า ในหน่วยงานที่ท่านอยู่จะต้องมีการลดจำนวนพนักงานลงจำนวนหนึ่ง ท่านจะทำอย่างไรครับ? สิ่งที่ท่านจะทำนั้นก็จะมาจากค่านิยมและความเชื่อของท่าน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาจจะไม่ได้แสดงออกมาอย่างชัดเจน แต่พอถึงช่วงวิกฤติแล้วค่านิยมและความเชื่อดังกล่าวจะปรากฏออกมา เช่น ท่านอาจจะหาทางเอาตัวรอดเพียงลำพัง หรือพยายามหาทางช่วยเหลือทั้งหน่วยงานให้อยู่รอด หรือทำใจและพยายามหางานใหม่?

ทีนี้ประเด็นสำคัญสำหรับผู้นำแบบ Authentic ก็คือท่านผู้อ่านควรจะต้องรู้จักค่านิยม และความเชื่อของตนเองที่แท้จริง และเมื่อเป็นผู้นำก็สามารถแปลงค่านิยมและความเชื่อนั้นให้ออกมาเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม และเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจน

ตัวอย่างที่เคยพบเช่นอาจารย์บางท่านจะมีค่านิยมหรือความเชื่อประจำตัวว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีด้วยบรรยากาศที่สนุกสนาน ดังนั้น อาจารย์ท่านดังกล่าวก็จะสอนหนังสือด้วยความสนุก เพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดความสนุกในการเรียนหนังสือ ดังนั้น จะเป็นผู้นำแบบ Authentic ได้ ก็ต้องรู้จักคุณค่าและความเชื่อที่แท้จริงของตัวเรา รวมทั้งประพฤติ ปฏิบัติให้สอดคล้องกับคุณค่าและความเชื่อดังกล่าวด้วยนะครับ

นอกจากเรื่องของความเชื่อและคุณค่าแล้ว เรื่องของแรงจูงใจก็สำคัญครับ คนที่จะเป็นผู้นำแบบ Authentic ได้ จะต้องมีแรงขับดันหรือแรงจูงใจที่สำคัญครับ และประเด็นที่สำคัญคือเราจะต้องเข้าใจให้ได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ขับเคลื่อนหรือจูงใจเราครับ ท่านผู้อ่านเคยลองถามตัวเองไหมครับว่าอะไรคือปัจจัยที่ขับเคลื่อน หรือผลักดันหรือจูงใจให้ท่านผู้อ่านทำในสิ่งที่ทำอยู่?

ผู้นำส่วนใหญ่อาจจะไม่ค่อยยอมรับนะครับ แต่ถ้าถามกันจริงๆ ก็จะพบว่าผู้นำส่วนใหญ่ จะมีแรงขับดันหรือจูงใจอยู่แล้วทั้งสิ้นครับ ซึ่งก็หนีไม่พ้นแรงจูงใจภายนอกกับภายในครับ ถ้าเป็นแรงจูงใจภายนอก ก็หนีไม่พ้นพวกรายได้ ค่าตอบแทน เกียรติยศ ชื่อเสียง การยอมรับ จากภายนอก ในขณะเดียวกัน แรงจูงใจภายในก็เป็นพวก โอกาสในการพัฒนาและเติบโต การได้ช่วยเหลือผู้อื่นพัฒนา การได้ช่วยเหลือสังคม หรือแม้กระทั่งการสร้างความแตกต่างและประโยชน์ให้กับโลกใบนี้

ประเด็นสำคัญคือจะเป็นผู้นำที่ดีได้ จะต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ผลักดันและจูงใจเรา พร้อมทั้งสร้างความสมดุลระหว่างแรงจูงใจภายนอกและภายในครับ เราอาจจะอยากจะได้ทรัพย์สิน เงินทอง ชื่อเสียง หรือการยอมรับ แต่ก็ไม่ควรที่จะให้น้ำหนักกับแรงจูงใจภายนอกมากเกินไปนะครับ จะต้องหันมาสร้างความสมดุลกับแรงจูงใจภายในด้วย นั้นคือนอกจากจะได้ทรัพย์สิน ชื่อเสียง แล้ว อะไรคือสิ่งที่ผลักดันให้เราทำงานหรือเป็นผู้นำ?

ใช่เป็นเพราะได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นและประเทศ หรือเป็นเพราะทำให้ตัวเราได้มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา หรือแม้กระทั่งการทำในสิ่งที่กำลังทำอยู่ให้ดีที่สุด เป็นต้น สิ่งที่สำคัญ คือท่านผู้อ่านจะต้องรู้ในสิ่งที่จูงใจตัวท่าน และพยายามสร้างความสมดุลระหว่างสิ่งจูงใจภายนอกกับภายในนะครับ

เป็นอย่างไรบ้างครับ แนวคิดการพัฒนาผู้นำแบบ Authentic ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้ว่าทุกอย่างจะต้องเริ่มจากการรู้จักตัวเราเองก่อนทั้งสิ้นนะครับ ไม่ว่าจะเป็นค่านิยม และค่าเชื่อที่มีอยู่ จนกระทั่งถึงแรงจูงใจที่ช่วยผลักดันให้ขึ้นมาเป็นผู้นำ เนื้อหาในสามสัปดาห์คงพอจะทำให้ท่านผู้อ่านได้ย้อนหันกลับมาดูตัวท่านเองบ้างนะครับ และที่สำคัญคือ อย่าลืมทำความเข้าใจและความรู้จักในตัวท่านเองก่อนนะครับ ก่อนที่จะไปเป็นผู้นำคนอื่นเขาได้

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ pasu@acc.chula.ac.thคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่มีความคิดเห็น: