พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับ "ความรู้"

“...ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดถือเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้ความรู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔

วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

มองมุมใหม่ : ผู้นำที่ดีต้องเริ่มจากการรู้จักตนเอง

มองมุมใหม่ : ผู้นำที่ดีต้องเริ่มจากการรู้จักตนเอง

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 13 มีนาคม พ.ศ. 2550

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ก่อนอื่นต้องขอประทานโทษที่หายไปสัปดาห์หนึ่งนะครับ อย่างไรก็ดี สัปดาห์นี้เราก็กลับมาพบกันตามเดิม และเนื้อหาก็ยังต่อเนื่องจากสองสัปดาห์ที่แล้ว โดยเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เกริ่นไว้ในเรื่องของผู้นำที่ทั้งเก่งและดี โดยเฉพาะดีในแง่ที่ว่าเป็นผู้นำที่มีลักษณะเป็น Authentic นั้น คือมีความน่าเชื่อถือ มุ่งมั่น บริหารด้วยทั้งหัวใจและสมอง โดยประเด็นสำคัญคือจะพัฒนาผู้นำที่มีลักษณะ Authentic ขึ้นมาได้อย่างไร? บรรดาทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะผู้นำก็ไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายที่จะบอกได้ว่า จะพัฒนาคนๆ หนึ่งให้เป็นผู้นำที่ทั้งเก่งและดีได้อย่างไร?

ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีบทความหนึ่งชื่อ Discovering Your Authentic Leadership เขียนโดย Bill George อดีตซีอีโอของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องมือแพทย์กับพรรคพวก โดย ได้สำรวจบรรดาผู้นำ ที่เรียกว่าเป็น Authentic Leader เพื่อหาคำตอบว่า จะเป็นผู้นำที่ทั้งเก่งและดีได้อย่างไร?

ประเด็นที่น่าสนใจที่ผมทิ้งท้ายไว้เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วก็คือ คนจะเป็นผู้นำแบบ Authentic ได้นั้นจะต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจ และรู้จักตัวเองก่อนครับ และไม่ใช่เพียงแค่รู้จักตัวเองเพียงอย่างเดียว ยังจะต้องมีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาครับ ซึ่งในประเด็นนี้มีความน่าสนใจมากครับ เนื่องจากเคยได้ยินบางคนพูดเหมือนกันว่า จะเป็นผู้นำที่ดีได้นั้นต้องเข้าหลักสูตรเจ๋งๆ เรื่องภาวะผู้นำก่อน หรือต้องรอให้ได้เจ้านายดีๆ มาสอนงานก่อน ซึ่งถ้าคิดแบบนั้นก็แสดงว่าเรามัวแต่รอคนอื่นเขาป้อนให้นะครับ

ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ได้ค้นพบเกี่ยวกับผู้นำที่เป็น Authentic เนื่องจากคนเหล่านี้จะไม่หยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญ คือคนที่จะรับผิดชอบต่อการพัฒนาความเป็นผู้นำของตัวเราก็คือตัวเราเองครับ เหมือนกับนักกีฬาหรือนักดนตรีที่เก่งๆ ครับ ที่จะต้องรู้จักพัฒนาตนเองตลอดเวลา ไม่สามารถรอให้คนอื่นเขามัวมาป้อนความเป็นผู้นำให้ได้หรอกครับ

ที่น่าสนใจเช่นกันก็คือคนที่จะเป็น Authentic Leader ได้นั้น มักจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเองเป็นสำคัญครับ เหตุการณ์ ประสบการณ์ หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต จะเป็นสิ่งที่หล่อหลอมค่านิยม ทัศนคติ และความคิดของบุคคลเหล่านั้น โดยบุคคลเหล่านั้นมักจะสามารถย้อนกลับไปถึงช่วงเวลา หรือเหตุการณ์ที่สำคัญในอดีต ที่มีส่วนหล่อหลอมต่อค่านิยม และทัศนคติของตนเอง

ท่านผู้อ่านลองย้อนกลับมาดูที่ตัวท่านเองบ้างก็ได้ครับ ความคิด ค่านิยม หรือทัศนคติของท่านในปัจจุบัน ได้เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ในประสบการณ์ หรือเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตหรือไม่? ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่าน คงจะมีประสบการณ์เช่นนั้นมาบ้างนะครับ

จริงๆ เหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นจะเป็นสิ่งที่หล่อหลอมความเป็นผู้นำหรือตัวตนของเราในปัจจุบันนะครับ เพียงแต่เรารู้จักที่จะเรียนรู้จากเหตุการณ์เหล่านั้นหรือไม่? ตอนที่นั่งเขียนบทความนี้ผมก็นึกถึงเรื่องของตัวเองเหมือนกันครับ ซึ่งก็นึกย้อนกลับไปสมัยมัธยมปลาย และเป็นวันปิดเรียนภาคต้น จำได้ว่าในวันนั้นทุกคนฉลองการปิดเทอมด้วยการทำห้องเลอะเทอะไปหมด จนอาจารย์ประจำชั้น (ซึ่งเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษด้วย) เขียนอะไรซักอย่างบนกระดาน

ซึ่งผมเองจำข้อความทั้งหมดไม่ได้ แต่ที่จำได้จนวันนี้คือคำว่า Self-Discipline ซึ่งในช่วงนั้นก็ยังแปลไม่ออกครับ ต้องถามเพื่อนว่าแปลว่าอะไร (แปลว่าการมีวินัยในตนเอง) ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่า เพราะทำไม (อาจจะเป็นเพราะทำให้อาจารย์ผิดหวัง) แต่หลังจากนั้น ก็จะติดที่คำนี้มาตลอด จนกระทั่งนำมาสอนทั้งลูกและลูกศิษย์ในปัจจุบัน

การเรียนรู้จากเหตุการณ์ในอดีตนั้น โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ไม่ดีหรือเลวร้าย เราต้องอย่ามองด้วยใจที่รันทดหรือเป็นอคตินะครับ แต่ขอให้พยายามเรียนรู้จากเหตุการณ์เหล่านั้น เพื่อนำมาหล่อหลอมเป็นค่านิยม หรือทัศนคติในการดำรงชีวิตของตนเอง และเผลอๆ อาจจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจหรือความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำขึ้นมาได้ครับ

คุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำแบบ Authentic (หรือในความเห็นผมของพวกเราทุกคนครับ) คือสิ่งที่ฝรั่งเขาเรียกว่า Self-Awareness หรือการรู้จักตนเองนะครับ บอร์ดที่ปรึกษาของ Standford ถูกถามว่า อะไรคือคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำที่จะต้องได้รับการพัฒนา ผลปรากฏว่าออกมาเป็นเสียงเดียวกันเลยครับ นั้นคือการรู้จักตนเอง

คนทำงานรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันต่างทำงานหนัก เพื่อมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จ โดยเห็นแบบอย่างความสำเร็จมาจากผู้อื่น แต่เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว ก็มักจะรักษาความสำเร็จนั้นไว้ได้เพียงไม่นานครับ สาเหตุสำคัญก็คือคนเหล่านั้นไม่มีเวลาหันกลับมาดูและสำรวจตัวเองครับว่าจริงๆ แล้ว อะไรคือสิ่งที่ตนเองต้องการกันแน่

เราจะเห็นผู้ที่ประสบความสำเร็จหลายคน ที่อยู่ดีๆ ก็ทิ้งความสำเร็จนั้นแล้วไปทำอย่างอื่นที่ตรงกันข้าม และสาเหตุหลักก็คือ "เพิ่งค้นพบตัวเอง" ดังนั้น ท่านผู้อ่านทุกท่านคงจะต้องเริ่มจากทำความรู้จักตนเองก่อนนะครับว่า อะไรคือสิ่งที่ตนเองต้องการกันแน่ และยิ่งรู้จักตนเองเร็วเท่าใด ก็ยิ่งดีเท่านั้นครับ และที่สำคัญ การที่รู้จักตนเองได้ดีนั้น ต้องกล้า และพร้อมที่จะยอมรับ โดยอาจจะศึกษาจากประสบการณ์หรือเหตุการณ์ที่ตนเองประสบมาในอดีต หรือการเปิดใจรับฟังความเห็นจากคนที่ใกล้ชิดและหวังดีกับเราจริงๆ จะเป็นผู้นำที่ทั้งดีและเก่งได้คงจะต้องเริ่มต้นจากการทำความรู้จักตัวตนที่แท้จริงของท่านก่อนนะครับ ในสัปดาห์หน้าเรามาดูกันต่อนะครับว่า มีปัจจัยอะไรอีกบ้างที่สำคัญ

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ pasu@acc.chula.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น: