พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับ "ความรู้"

“...ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดถือเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้ความรู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔

วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

มองมุมใหม่ : ผู้นำที่เก่งและดีมาจากไหน?

ผู้นำและภาวะผู้นำเป็นหัวข้อหนึ่งที่สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ได้นำมาสอนในวิชาต่างๆ อาทิ พฤติกรรมองค์การและการพัฒนาองค์การ และจริยธรรมของนักบริหาร ในปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับผู้นำได้มีการพัฒนาไปจากอดีตมากมาย รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ ก็เป็นนักวิชาการท่านหนึ่งที่ได้ศึกษาเรื่องการพัฒนาการบริหาร บทความมองมุมใหม่ที่อาจารย์พสุได้เขียนไว้ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ถือว่ามีประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาการบริหาร สำหรับในระยะแรกของการทำ blog KM สำหรับความรู้ด้านการบริหารนี้ผมขอนำแนวคิดเรื่องผู้นำมาเสนอ สำหรับบุคลากรของคณะรัฐศาสตร์ฯ ได้อ่านเพิ่มพูนความรู้ ตลอดจนสามารถนำไปประกอบการสอนได้ครับ

มองมุมใหม่ : ผู้นำที่เก่งและดีมาจากไหน?

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ pasu@acc.chula.ac.th คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ผู้นำที่เก่งหาได้ไม่ยาก แต่คำถามคือต้องเก่งและดีด้วยครับ เราจะหาผู้นำแบบนั้นในปริมาณเยอะๆ ได้จากไหน? หรือจะพัฒนาตนเองให้เป็นผู้นำที่ทั้งเก่งและดีได้อย่างไร? ผู้นำที่เก่งนั้นระบุไม่ยากนะครับ แต่ผู้นำที่ดีนั้นหมายถึงอะไรครับ? จะต้องเป็นผู้นำที่ปฏิบัติตามหลักธรรมหรือเปล่า? หรือผู้นำที่อยู่ในกรอบจริยธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคม?

ตรงนี้เป็นเรื่องที่กำหนดลำบากเหมือนกันนะครับ แต่ในหลักการทางด้านผู้นำของชาติตะวันตกแล้ว เขามักจะใช้คำว่า Authentic เข้ามาเกี่ยวข้องกับผู้นำที่ดีครับ นั่นคือไม่ใช่แค่เป็นคนที่ดีอย่างเดียว แต่ต้องเป็นที่น่าเชื่อถือ ไว้วางใจ จากผู้ใต้บังคับบัญชา และสังคมรอบข้างด้วย


ท่านผู้อ่านไม่ต้องมองอื่นไกลครับ ลองสังเกตในบ้านเราดูก็ได้ว่า เริ่มมีกระแสที่จะไม่ไว้วางใจผู้บริหารระดับสูงกันมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งในอดีตการไม่ไว้วางใจผู้นำนั้น เป็นสิ่งที่เกือบจะเรียกว่า เป็นไปไม่ได้ เคยอ่านหนังสือเจอว่าในยุคหนึ่งเรามีผู้นำประเทศ ที่ยึดหลัก "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" ซึ่งประชาชนก็ให้ความเชื่อถือและไว้วางใจ โดยปฏิบัติตามนโยบายต่างๆ ที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นการใส่หมวก เลิกกินหมาก หรือรัฐนิยม
แต่พอมาถึงยุคปัจจุบัน ดูเหมือนว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้นำระดับประเทศ หรือผู้นำองค์กรต่างๆ ก็มักจะไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนหรือผู้ใต้บังคับบัญชากันเท่าใด มิฉะนั้น หน่วยงานหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ในด้านการตรวจสอบ คงจะไม่ผุดกันขึ้นมาเป็นดอกเห็ดเหมือนในปัจจุบัน

ดูเหมือนว่า ความท้าทายของผู้นำยุคใหม่ จะไม่ใช่เพียงเรื่องของการเป็นผู้นำที่เก่งเพียงอย่างเดียวแล้วนะครับ แต่ผู้นำจะต้องเป็นผู้นำที่เป็นที่น่าเชื่อถือ และไว้วางใจของบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย สังคมเราต้องการผู้นำที่มีลักษณะดังกล่าวมากขึ้น นั่นคือ ทั้งเก่งและน่าเชื่อถือ คำถามสำคัญคือจะไปหามาจากไหน? หรือจะพัฒนาให้มีผู้นำในลักษณะดังกล่าวได้อย่างไร?

เมื่อหันกลับมาดูบรรดางานวิชาการด้านภาวะผู้นำ พวกนักคิดต่างๆ ก็ได้พยายามหาสูตรสำเร็จของภาวะผู้นำออกมา มีทฤษฎีหรือแนวคิดต่างๆ ทางด้านผู้นำออกมาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ก็เพื่อตอบคำถามว่า ผู้นำที่ดีและเก่งควรจะมีคุณลักษณะอย่างไร รวมทั้งมีวิธีการอย่างไรในการพัฒนาให้คนๆ หนึ่ง กลายมาเป็นผู้นำที่ทั้งเก่งและดีไปพร้อมๆ กัน อย่างไรก็ดี สิ่งที่พบก็คือ เราคงไม่สามารถที่จะลอกเลียนแบบหรือถ่ายทอดภาวะของผู้นำจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่งได้ ถ้าใครก็ตามที่พยายามที่จะลอกเลียนแบบคุณลักษณะหรือสไตล์ของผู้นำที่ทั้งเก่งและดี ก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่คิดไว้

ผมเชื่อว่า เราสามารถเรียนรู้จากผู้อื่นได้ครับ แต่ไม่สามารถลอกเลียนจากเขาได้ มีอดีตผู้บริหารของ GE หลายท่านเคยกล่าวไว้เหมือนกันครับว่า ใน GE นั้นมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผู้บริหารทุกคนอยากจะเป็นเหมือนอย่าง Jack Welch โดยพยายามลอกเลียนสไตล์ คุณลักษณะ และวิธีการในการบริหาร ซึ่งสุดท้ายคนที่มาเป็น CEO แทน Jack Welch อย่าง Jeff Immelt ก็ไม่ได้มีส่วนเหมือนกับ Jack Welch เสียเท่าใด

สรุปก็คือ จะเป็นผู้นำที่ทั้งเก่งและดี คงยากที่จะลอกเลียนจากผู้นำอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จ เราสามารถเรียนรู้การเป็นผู้นำของคนอื่นได้ แต่ไม่สามารถลอกเลียนแบบภาวะผู้นำของผู้อื่นได้ครับ

จริงๆ แล้ว มีหนังสือขายดีเมื่อประมาณสี่ปีที่แล้วอยู่เล่มหนึ่ง ชื่อ Authentic Leadership ซึ่งเขียนโดย Bill George ซึ่งเคยเป็น CEO ของบริษัทผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่ ชื่อ Medtronic และปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่ Harvard Business School โดยในหนังสือเล่มดังกล่าวเขาได้นิยาม Authentic Leadership ไว้กว้างกว่าผู้นำที่น่าเชื่อถือ ที่ผมได้นำเสนอไว้ในเบื้องต้นอีกนะครับ

โดยผู้นำที่เป็น Authentic Leader นั้น จะต้องมีความมุ่งมั่นต่อการบรรลุเป้าหมาย ปฏิบัติตามค่านิยมที่กำหนดไว้อย่างสม่ำเสมอ (หรือพูดเป็นไทยง่ายๆ คือ ทำตามที่คิดและพูด ไม่ใช่เหมือนผู้นำบางท่านที่พูดอย่าง ทำอย่าง) และนำด้วยทั้งหัวใจและหัวสมอง ผู้นำเหล่านี้จะเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกภาคส่วน และในขณะเดียวกัน ก็มีวินัยในตนเองเพียงพอที่จะทำงานให้บรรลุจุดมุ่งหมาย
ทีนี้ก็มาถึงคำถามสำคัญครับ คือ ทำอย่างไรถึงจะพัฒนาตนเองหรือพัฒนาผู้อื่นให้เป็น Authentic Leader หรือเอาแค่ง่ายๆ ก่อน คือให้เป็นผู้นำที่มีความน่าเชื่อถือก่อนก็ได้ครับ?

ทางผู้เขียนหนังสือเรื่อง Authentic Leadership ก็ได้ร่วมกับพรรคพวก ทำการวิจัยเพื่อตอบคำถามนี้ครับ โดยผลจากการสอบถามผู้นำ ที่เป็นลักษณะ Authentic กว่าพันรายพบว่า การจะเป็นผู้นำที่มีลักษณะ Authentic นั้น ไม่ได้เกิดจากการมีคุณลักษณะ หรือบุคลิกภาพ หรืออะไรร่วมกันเลยครับ เราไม่สามารถหาปัจจัยร่วมของผู้นำ ที่มีลักษณะ Authentic แต่สิ่งที่พบจากงานวิจัยในครั้งนี้ ก็คือ
ความเป็นผู้นำของแต่ละคน เกิดหรือได้รับการพัฒนาขึ้นมาจากตัวตนแต่ละคนทั้งสิ้น นั่นคือทุกคนจะมีภาวะผู้นำอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าแต่ละคนจะรู้จักที่จะเรียนรู้ เข้าใจ และสามารถพัฒนาความเป็นผู้นำในตัวเราให้ออกมา และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นหรือไม่? ผู้นำที่ดีไม่ได้เป็นมาตั้งแต่เกิด หรือเป็นเพราะได้รับการคัดเลือกจากเจ้านาย แต่เกิดขึ้นจากความสามารถของคนๆ นั้น ในการที่จะรู้จักและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว)

แนวคิดนี้น่าสนใจมากนะครับ โดยแทนที่จะมองว่า ภาวะผู้นำเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกหรือเป็นมาแต่กำเนิดเหมือนในอดีต สิ่งที่ค้นพบกลับทำให้เราคิดว่า จะเป็นผู้นำที่ดีได้นั้น จะต้องเริ่มต้นจากการทำความรู้จัก และเข้าใจในตนเองก่อน รวมทั้งเกิดขึ้นจากประสบการณ์ และเรื่องราวที่หล่อหลอมมาเป็นบุคคลคนนั้น เอาไว้สัปดาห์หน้าเรามาดูกันต่อนะครับว่า ถ้าท่านอยากจะพัฒนาตัวท่านเองให้เป็นผู้นำที่ทั้งเก่งและดีได้ จะมีวิธีการหรือแนวทางอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น: