พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับ "ความรู้"

“...ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดถือเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้ความรู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔

วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2551

ความสำเร็จและความล้มเหลว ในการบริหารงานบุคคลในมหาวิทยาลัย

ความสำเร็จและความล้มเหลว ในการบริหารงานบุคคลในมหาวิทยาลัย

โดย ศักราช ฟ้าขาว มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ได้สัมผัสกับการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษาจากการพูดคุยกับเพื่อนต่างสถาบัน และภายในมหาวิทยาลัยที่สังกัด

ได้เห็นความสำเร็จและความล้มเหลวในการบริหารงานบุคคล ในหลายกรรมและหลายวาระเห็นคนดีใจจากการขึ้นสู่ผู้บริหารจนประสบความสำเร็จ
และเห็นเพื่อนร่วมงานที่เข้ามาพูดคุยกันในเรื่องความไม่ก้าวหน้าของตนเองตามแนวทางที่ควรจะเป็น
ตามทฤษฎีความต้องการของ Maslow การบริหารบุคคลในมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการสร้างความกดดันและวิตกกังวลให้แก่บุคลากร จนกระทั่งคิดจะโอนย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหนีปัญหาจากโลกนี้ไปก็มี
ความสำเร็จและความล้มเหลวในการบริหารบุคคลในมหาวิทยาลัย จะมีปัจจัยสำคัญที่จะสร้างให้คนพึงพอใจและวิตกกังวลได้ ดังนี้
1.วัฒนธรรมองค์กร
2.สภามหาวิทยาลัย
3.ผู้บริหารทุกระดับในมหาวิทยาลัย
4.การสร้างข้อบังคับ ประกาศ ระเบียบ

1.วัฒนธรรมองค์กร เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสำเร็จและล้มเหลวได้ สถาบันอุดมศึกษาแห่งใด มีวัฒนธรรมของความรักในหมู่และพรรคพวกของตนเองมาก คาดคะเนได้ว่าปัจจัยอื่นที่จะกล่าวถึงก็จะเป็นไปในแนวทางของหมู่และพรรคพวกของตนเองแทบทั้งสิ้น แต่หากสถาบันใดมีวัฒนธรรมองค์กร ที่มีหลักธรรมาภิบาล เป็นตัวตั้ง สถาบันแห่งนั้นจะเป็นที่ยอมรับของคนในที่แห่งนั้น คนจะอยู่ด้วยความรักและความสุขอย่างทั่วถึง เกิดความพึงพอใจ เพราะไม่กระจุกความสุขเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

2.สภามหาวิทยาลัย เป็นองค์กรหลักในสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง ที่จะควบคุมดูแลจัดการในด้านวิชาการ งบประมาณและบริหารงานบุคคลของผู้บริหารในมหาวิทยาลัย
หากโครงสร้างของสภามหาวิทยาลัยประกอบไปด้วยทีมที่เกิดจากผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าข้างผู้บริหาร ผู้แทนคณาจารย์ที่เป็นผู้บริหาร สภามหาวิทยาลัยแห่งนั้นก็จะเป็นเพียงสภาตรายาง และจะรักษาประโยชน์ของผู้บริหารและกลุ่มของผู้บริหารย่อมมาก่อนคณาจารย์ และบุคลากรอื่นเสมอ
หากเป็นดังกล่าวนี้การวินิจฉัย การตีความเรื่องต่างๆ ตลอดถึงความเป็นธรรมก็จะเบี่ยงเบนไปจากข้อเท็จจริง และเกิดความไม่พึงพอใจและสร้างความวิตกกังวลแก่คณาจารย์ และบุคลากรได้

3.ผู้บริหารทุกระดับในมหาวิทยาลัย เป็นแรงผลักและแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ที่จะทำให้เกิดความสำเร็จและความล้มเหลวในเรื่องต่างๆ ได้
ผู้บริหารในมหาวิทยาลัยจะมาจากคณาจารย์ที่มีการสรรหาเลือกตั้ง โดยวิธีการที่สภามหาวิทยาลัยเห็นชอบ
ปรากฏการณ์ของคนในมหาวิทยาลัยคือ พรรคการเมืองย่อยๆ นั่นเอง จึงมีการว่ากล่าว ด่าทอ (ลับหลัง) เอาพวกหมู่ของตนเองไว้ก่อนสิ่งอื่น หากผู้บริหารกลุ่มใดมีวิธีคิดแบบนี้มาก การที่จะให้คณาจารย์ และบุคลากรสายสนับสนุนพึ่งพิง พึ่งพาจะเป็นได้ยาก การตีความที่มีข้อร้องเรียนจากคณาจารย์ ก็จะตีความไปโดยขัดกับหลักธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม เพราะจะวินิจฉัยหรือชี้นำให้สภาฯ เห็นคล้อยตามไปตามแนวทางของกลุ่มหรือพรรคพวกของตนเอง

4.การสร้างข้อบังคับ ประกาศ และระเบียบ เป็นไปโดยใช้หลักนิติธรรมมากน้อยเพียงใด
หลักนิติธรรม หมายถึง การใช้ความถูกต้องของกฎหมาย และไม่ตีความเพื่อให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มของตนเองในปัจจุบันและอนาคต หรือคาดคะเนหรือวางแนวทางให้กลุ่มผู้เขียน
ผู้ร่างขึ้นได้ประโยชน์จากการเขียนข้อบังคับ ประกาศ และระเบียบ นั้นๆ
เช่น ข้อบังคับมหาวิทยาลัย ว่าด้วย คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาซึ่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย พ.ศ.2547 ระบุว่า กรรมการสภาจากผู้แทนคณาจารย์ต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งบริหาร และนิยามตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 มาตรา 16 (3) คือเขียนข้อบังคับฯ เพื่อเอื้อต่อผู้บริหารตั้งแต่รองคณบดี รองผู้อำนวยการสำนัก และหัวหน้าภาควิชา
เราจึงเห็นปรากฏการณ์ผู้บริหารเหล่านี้มาสมัครเป็นผู้แทนคณาจารย์กันทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง

ถ้าถามว่าผิดข้อบังคับฯหรือไม่ ไม่ผิด เพราะผู้ร่าง ผู้เขียนข้อบังคับฯ เขียนขึ้นโดยดูกฎหมายฉบับเดียว (พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 มาตรา 16 (3) ไม่ได้นำกฎหมายที่ใช้คู่กัน คือ พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 18 มากล่าวถึง ซึ่งกำหนดตำแหน่งผู้บริหารระบุตั้งแต่ อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี รองคณบดี ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการสำนัก รองผู้อำนวยการฯ เป็นผู้บริหารทั้งหมด และไปดู พ.ร.ฎ.ว่าด้วยเงินประจำตำแหน่ง กำหนดตั้งแต่อธิการบดีลงไปถึงหัวหน้าภาควิชาเป็นผู้บริหาร แบบนี้ถือว่าใช้หลักนิติธรรมในทางกฎหมายไม่ดีพอ

ปัจจัยดังกล่าวนี้ เป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดความสำเร็จและความล้มเหลวในการบริหารงานบุคคลในมหาวิทยาลัยได้

ความตระหนักความสำนึกของผู้บริหารที่ถอดหัวโขนจากคณาจารย์ไปเป็นผู้บริหารที่มีความเข้าใจ และใช้หลักธรรมาภิบาลเท่านั้นจะสร้างให้คนพึงพอใจและคลายความวิตกกังวลได้ และจะสามารถขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยไปในทิศทางเป็นที่ยอมรับของคนภายในมหาวิทยาลัยและมวลชนภายนอกได้

มติชน วันที่ 04 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10830หน้า 5

ไม่มีความคิดเห็น: